หน้าเว็บ

วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2553

สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับคนไทใหญ่








สมเด็จพระนเรศวรฯ กับคนไทใหญ่
เรื่องโดย : นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว

ในช่วงการสู้รบ ครั้งใหญ่บริเวณชายแดนไทย-รัฐฉาน เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๔๘ ที่ผ่านมา ระหว่างกองกำลังว้าแดง (UWSA-United Wa State Army) -กองพล ๑๗๑ ของเหว่ยเซียะกังที่มีเป้าหมายขึ้นยึดพื้นที่ดอยไตแลงของกองกำลังกู้ชาติไท ใหญ่ (SSA-Shan State Army) ภายใต้การนำของพันเอกเจ้ายอดศึก

ระหว่าง ช่วงสงครามครั้งนี้ สื่อมวลชนไทยและสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งทั้งเอพี รอยเตอร์ บีบีซี ได้มี
โอกาสขึ้นไปยอดดอยไตแลง ที่ตั้งของกองบัญชาการสูงสุดกองทัพ SSA และได้เข้าไปจนถึง "หน้าศึก" หรือ"จุดสู้รบ" บริเวณฐานป่าไม้ และฐานเนินกองคา ซึ่งไม่กี่วันก่อนคือสนามรบอันดุเดือด มีทหารว้าแดงขึ้นมาตายนับร้อยศพ และทางว้าแดงกับพม่าเพิ่งใช้ปืน ค. ๑๒๐ ปืน ค. ๘๑ ปืน ค. ๘๒ ยิงถล่ม บางวันมากกว่า
๓,๐๐๐ ลูก ร้อยเอกจายกอน ซึ่งรับผิดชอบควบคุมดูแลฐานป่าไม้เล่าให้ฟังว่า ลูกปืนใหญ่ตกทั่วไปหมด พอ
ทหารไทใหญ่ได้ยินเสียงปล่อยลูกปืนก็วิ่งลงบังเกอร์ กลางคืนถึงค่อยเงียบลง รุ่งเช้าพอแสงสว่างพ้นขอบฟ้าก็เริ่มยิงกันใหม่


การรบยืดเยื้ออยู่เป็นเดือน ร้อยเอกจายกอนยังยืนยันด้วยความมั่นใจ "เป็นไปไม่ได้ที่ดอยไตแลงจะแตก ไม่มีทางที่เขาจะยึดได้ เพราะเราเป็นคนรักชาติ เราต้องป้องกัน"
ถามว่าสิ่งใดเล่าที่ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้ทหารไทใหญ่ สามารถต่อสู้อย่างอดทนเข้มแข็ง และ
ตรากตรำมาได้ยาวนานหลายสิบปีอย่างนี้ร้อย เอกจายกอนยิ้มสดใส หยิบเหรียญทองแดงรมดำให้ดูและบอกว่า ขุนศึกต้องมีพระดี แต่ "ของดี" สำคัญที่สุดที่คุ้มครองทหารไทใหญ่ให้มั่นใจและปลอดภัยกันทั่วทุกคนก็คือ "เหรียญสมเด็จพระนเรศวรฯ"


สมเด็จพระนเรศวรฯ ในประวัติศาสตร์ไทใหญ่

สำหรับคนไทยสยามยุคปัจจุบัน เมื่อได้เห็นภาพการบวงสรวงบูชาไหว้ศาลสมเด็จพระนเรศวรฯ ที่ฐานเนินกองคาของทหารไทใหญ่ และได้เห็นหนุ่มน้อยทหารไทใหญ่ต่างมีเหรียญทองแดงรมดำรูปสมเด็จพระนเรศวรฯ แขวนเชือกป่านห้อยคอเป็น "ของขลัง" ประจำตัวนั้น ถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจยิ่ง ว่าเหตุใดชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะทหารไทใหญ่ จึงได้เคารพนับถือสมเด็จพระนเรศวรฯ บุรพกษัตริย์นักรบอย่างหนัก
แน่นมั่นคงเช่นนี้ ทั้งที่สมเด็จพระนเรศวรฯ เป็นกษัตริย์ไทยและเสด็จสวรรคตล่วงผ่านไปแล้วถึง ๔๐๐ ปี!
สมเด็จพระนเรศวรฯ กับคนไทใหญ่ พันเอกเจ้ายอดศึกผู้นำกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ยุคปัจจุบัน ตอบคำถามสั้นๆ ถึงที่มาทางประวัติศาสตร์อันทำให้ทหารไทใหญ่นับถือสมเด็จพระนเรศวรฯ อย่างที่สุดว่า"พระนเรศวรฯ กับเจ้าคำก่ายน้อยเจ้าฟ้าของไทใหญ่ ท่านเป็นเพื่อนกัน มีจุดมุ่งหมายเหมือนกัน คือต้องการรบพม่า ต้องการขับไล่พม่าออกจากแผ่นดินไทยและแผ่นดินไทใหญ่ คนไทใหญ่ถือว่าถ้าพระนเรศวรฯ ยังอยู่ไทใหญ่จะไม่ลำบากอย่างนี้ เพราะท่านมีนโยบายปราบพม่าให้หมดสิ้น คนไทใหญ่ทุกคนรู้เรื่องนี้ ผมศึกษาประวัติศาสตร์ ได้รู้ และเชื่อถือมาก ทหารไทใหญ่ทุกคนเชื่อเพราะรู้ประวัติศาสตร์ ผมอธิบายให้ฟังทุกคน"

"เจ้า คำก่ายน้อย" ที่พันเอกเจ้ายอดศึกกล่าวถึง คือเจ้าฟ้าวีรบุรุษคนหนึ่งของชาวไทใหญ่ ผู้เป็นสหายร่วมรบ มากับสมเด็จพระนเรศวรฯ มีปรากฏในประวัติศาสตร์ที่คนไทใหญ่รับรู้มายาวนาน



ความสัมพันธ์ ระหว่างสยามกับชนกลุ่มน้อย ตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะกับมอญ
กะเหรี่ยง ไทใหญ่นั้น มีความแนบแน่นลึกซึ้ง มอญ กะเหรี่ยง ไทใหญ่ คือ "ชาวด่าน" ที่คอยป้องกันขอบ
ขัณฑสีมาจากการรุกรานของพม่า หลักฐานทางไทใหญ่กล่าวย้ำถึงสัมพันธภาพแน่นแฟ้นนี้ว่า จนแม้ไทใหญ่
ที่ถูกกุมตัวเป็นเชลยอยู่กลางเมืองพม่าเอง ก็พร้อมจะแข็งขืนไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจพม่า แต่มาฝักฝ่ายอยู่กับฝ่ายไทยซึ่งเป็นเชื้อชาติเดียวกัน ดังที่ "เคอแสน" นักประวัติศาสตร์ชาวไทใหญ่บันทึกไว้ในบทความ "สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและเจ้าคำก่ายน้อยแห่งไทใหญ่" ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนสิงหาคม ๒๕๔๕ ว่า ครั้งที่กษัตริย์บุเรงนองยกทัพเข้ามาตีเมืองไทย ลาว เชียงใหม่ เชียงห่ม ในปี พ.ศ. ๒๑๐๘ นั้น
"เจ้าฟ้าไทใหญ่และทหารไทใหญ่ที่ถูกจับเป็นเชลย อยู่ในเมืองหงสาวดีนั้นถือโอกาสจุดไฟเผาหอ, วังใน
เมืองหงสาวดีเสียหาย จนกระทั่งพวกอำมาตย์ของพม่าต้องหนีไปอยู่ที่ "เมืองทละ" การเผาหอ, วัง ในครั้งนี้
เจ้าฟ้าไตย (ไทใหญ่) ให้เหตุผลว่า เพราะพม่าทำการรุกรานนำทัพเข้าตีเมืองพี่เมืองน้องของไตย หลังจาก
บุเรงนองทราบข่าวจึงรีบยกทัพกลับเมืองหงสาวดีทันที และจับเจ้าฟ้าไตยและคนไตยหมื่นกว่าคนทำการเผา
ทั้งเป็นที่เมืองหงสาวดี"และ "เคอแสน" ยังกล่าวไว้อีกด้วยว่า สมเด็จพระนเรศวรฯ คือบุรพกษัตริย์ที่รวบรวมก่อตั้งอาณาจักรไทใหญ่โดยที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงปรึกษากับเจ้าคำก่ายน้อย เจ้าฟ้าไทใหญ่ เพื่อจะสร้างกองทัพราชอาณาจักรไทย-ไทใหญ่ ให้เข้มแข็งถาวรต่อไปในวันข้างหน้า โดยทางไทใหญ่นั้นเจ้าคำก่ายน้อยรับอาสาที่จะเจรจากับเจ้าฟ้าไทใหญ่ทุกเมือง ใน ปี พ.ศ. ๒๑๔๓ สมเด็จพระนเรศวรฯ มีรับสั่งให้เจ้าคำก่ายน้อยนำกำลังทหารส่วนหนึ่งเข้าไปเมืองปั่น เมืองนาย ยองห้วย ไปจนถึงภาคกลาง และเจ้าฟ้าไทใหญ่ทุกเมืองพร้อมกันจัดตั้งเป็นพระราชอาณาจักรขึ้น โดยมีสมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงเป็นผู้นำ ส่วนช่วงที่สมเด็จพระนเรศวรฯ เสด็จขึ้นไปสวรรคตที่เมืองหาง ในแผ่นดินรัฐฉาน ประวัติศาสตร์ไทใหญ่ระบุว่า ในครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรฯ ได้ทรงยกทัพขึ้นไป ช่วยเจ้าคำก่ายน้อย ที่กำลังทำศึกกับทหารจีนและทหารพม่าซึ่งรุกรานเมืองไทใหญ่ แต่สมเด็จพระนเรศวรฯ สวรรคตเสียก่อน เจ้าคำก่ายน้อยจึงสู้รบต่อไปเพียงลำพัง และสิ้นพระชนม์กลางสนามรบที่เมืองแสนหวี ใน ปี พ.ศ. ๒๑๔๘ หลังการสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรฯ ไม่นานนัก


สมเด็จพระนเรศวรฯ กับกองทัพกู้ชาติ "หนุ่มศึกหาญ"

เรื่องโดย : นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว

ด้วยพื้นฐานทาง ประวัติศาสตร์ที่มีร่วมกันมาระหว่างไทยสยาม-ไทใหญ่ ตั้งแต่วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.
๒๕๐๑ เมื่อกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่กลุ่มแรกคือ "หนุ่มศึกหาญ" ภายใต้การนำของ "เจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะ" ได้
ก่อตั้งขึ้นที่รัฐฉานใต้ บทบาทความสำคัญของกษัตริย์นักรบ "สมเด็จพระนเรศวรมหาราช" ต่อกองทัพกู้ชาติ
ไทใหญ่ก็หยั่งรากลงอย่างมั่นคงมานับแต่บัดนั้น

วันดี สันติวุฒิเมธี ศึกษาไว้ในวิทยานิพนธ์ของคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ หัวข้อ "กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชาวไทใหญ่ชายแดนไทย-พม่า
กรณีศึกษา : หมู่บ้านเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่" เกี่ยวกับการสถาปนาความเชื่อมั่นนับถือที่ทหารไทใหญ่มีต่อสมเด็จพระนเรศวร มหาราชว่า "หลังจากเจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะเข้ามาตั้งกองกำลังกู้ชาติไท ใหญ่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๑ เจ้าน้อยได้ติดต่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีของไทยในขณะนั้นเพื่อขอความช่วยเหลือ ทางการทหารและความจำเป็น ด้านอื่นๆ จากรัฐไทย แลกกับข่าวจากประเทศพม่าและเป็นแนวกันชนให้รัฐ ไทยในการป้องกันภัยคุกคามจาก ประเทศพม่า ในช่วงเวลานั้นจอมพลสฤษดิ์ได้ตอบรับให้ความช่วยเหลือ เจ้าน้อยเป็นอย่างดี ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาภัยคอมมิวนิสต์รอบด้าน และหากพิจารณา ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-พม่าในเวลานั้นจะพบว่ายังไม่แน่นแฟ้น หรือยังไม่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ตรงกันข้ามภาพของพม่ากลับถูกปูพื้นและตอกย้ำภาพของ "ศัตรู" ผู้รุกรานอธิปไตยของชาติไทยมาตั้งแต่ สมัยรัชกาลที่ ๕ ขณะที่ภาพความสัมพันธ์กับชาวไทใหญ่เริ่มถูกปูพื้นภาพของ "มิตร" หรือผู้มีบรรพบุรุษ ร่วมกันมา...

และเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทใหญ่- ไทยน้อยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จอมพลสฤษดิ์จึง มองหาวีรบุรุษที่จะช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างชาวไท ใหญ่-ไทยน้อยขึ้นมา และด้วยความประจวบ เหมาะทางด้านเนื้อหาในตัวพระนเรศวรฯ ซึ่งเคยมีประวัติการรบชนะพม่าและเคยสร้างความสัมพันธ์อันดี กับชาวไทใหญ่มา ก่อน ประกอบกับรัฐไทยในเวลานั้นกำลังเลือกท่านขึ้นมาเป็น "วีรบุรุษผู้ปกป้องอธิปไตย ของแผ่นดินไทย" พอดี เห็นได้จากก่อนหน้าเจ้าน้อยจะเข้ามาขอความช่วยเหลือประมาณ ๒ ปี รัฐไทยเพิ่ง เริ่มก่อตั้งอนุสาวรีย์พระนเรศวรฯ แห่งแรกที่อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๙ โดยกลุ่มผู้ผลักดันให้มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์พระนเรศวรฯ ดังกล่าวคือกองทัพบก ซึ่งขณะนั้นมีจอม พลสฤษดิ์เป็นผู้บัญชาการสูงสุด..."
ความเชื่อเรื่อง "สมเด็จพระนเรศวรฯ" ซึ่งเป็น "วีรบุรุษ" นักรบของทั้งไทใหญ่-ไทยน้อย ได้รับการสืบทอด
อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เมื่อจอมพลสฤษดิ์กับเจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะได้ร่วมกันสร้างเหรียญบูชารูปสมเด็จ พระ
นเรศวรมหาราชขึ้นมา ๑,๐๐๐ เหรียญ ด้านหน้าของเหรียญเป็นรูปสมเด็จพระนเรศวรฯ หันข้างซ้าย เห็น
เฉพาะพระพักตร์ด้านข้าง และมีพระนามสมเด็จพระนเรศวรฯ เป็นตัวอักษรไทใหญ่อยู่ทั้งด้านหน้าด้านหลัง
ปัจจุบันเหรียญรุ่นแรกนี้ ถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์หายาก เพราะสร้างมา ๔๗ ปี มีจำนวนน้อย ผู้ครอบครองมี
แต่นักรบกู้ชาติไทใหญ่รุ่นแรกเท่านั้น นอกจากเหรียญ สมเด็จพระนเรศวรฯ ที่สร้างขึ้นร่วมกันระหว่างไทยสยามและไทใหญ่ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกลุ่ม "หนุ่มศึกหาญ" แล้ว "ความเชื่อ" ในบารมีศักดิ์สิทธิ์ของสมเด็จพระนเรศวรฯ ที่จะคุ้มครองนักรบกู้ชาติไท ใหญ่ ยังรองรับอยู่ด้วยรูปธรรมของเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระนเรศวรฯ๑ ที่เมืองหาง ชายแดน ไทย-รัฐฉาน ซึ่งก่อนออกรบกับทหารพม่าแต่ละครั้ง เจ้าน้อยมักจะนำนายทหารไทใหญ่เดินทางไปสักการะ เจดีย์องค์นี้ ผลปรากฏว่า ตั้งแต่การรบครั้งแรก และในการรบช่วงปีแรก ทหารไทใหญ่สามารถเอาชนะทหาร พม่าได้ทุกครั้ง ทั้งๆ ที่มีกำลังพลและอาวุธน้อยกว่า เจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะผู้นำขบวนการ หนุ่มศึกหาญ กล่าวอย่างมั่นใจว่า ชัยชนะของไทใหญ่ "เป็นด้วยบุญบารมี ของพระวิญญาณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ทรงบันดาลให้พวกหนุ่มศึกหาญประสบความสำเร็จ"๒ นอกจากนี้เจ้าน้อย ซอหยั่นต๊ะยังกล่าวถึงประสบการณ์ที่แสดงว่าพระวิญญาณของสมเด็จพระนเรศวร มหาราชได้ทรงคุ้มครองนักรบไทใหญ่ ซึ่งปราณี ศิริธร เล่าไว้ในหนังสือสารัตถคดีเหนือแคว้นแดนสยาม หน้า ๒๓๙-๒๔๐ ว่า"ใน คืนนั้น เวลาประมาณ ๐๒.๐๐ น. กองทหารพม่าพร้อมด้วยอาวุธ และกำลังพล ๒๐๐ คนเศษ ได้เคลื่อนกำลัอย่างเงียบเชียบที่สุด โดยการนำทางของสายลับ ที่สืบทราบอย่างแน่ชัดถึงหน่วยที่ตั้งกองกำลังหนุ่มศึกหาญเมื่อมา ถึง นายทหารพม่าได้นำกำลังโอบล้อมไว้โดยรอบ พร้อมที่จะลั่นกระสุนสังหารหน่วยหนุ่มศึกหาญที่นอนหลับพักผ่อนอย่างสบาย โดยมิได้ระมัดระวังตัว แต่กลับปรากฏว่า ในบริเวณป่าแห่งนั้น มิใช่ป่าไม้หนาทึบตามที่สายลับรายงาน หากเป็นบริเวณอันกว้างขวาง มีป้อมค่ายทหาร ซึ่งสร้างด้วยไม้ไผ่แข็งแรงสามารถสกัดการบุกของข้าศึกจำนวนพัน ทั่วบริเวณแห่งนั้น มีขอนไม้สุมไฟกองเป็นระยะ มีทหารนับจำนวนเป็นร้อยๆ กำลังอยู่ในลักษณะเตรียมพร้อมที่จะต่อสู้ บ้างก็ยืนยามระมัดระวังตน บ้างก็นั่งผิงไฟยามหนาว มีกองช้าง กองม้าเรียงรายอยู่นอกค่าย ส่งเสียงร้องคำรณอยู่ไม่ขาดหาย ภายในค่ายก็ยังมีทหารคุยกันเป็นภาษาไทยอย่างชัดเจนเมื่อมาประสบ เหตุการณ์อย่างคาดไม่ถึงเช่นนี้ นายทหารพม่า ซึ่งส่งมาจากร่างกุ้ง เป็นหัวหน้าหน่วยลาดตระเวนถึงกับตะลึงงัน ไม่กล้าบุกเข้าโจมตี เพราะกำลังพลที่นำไป ๒๐๐ กว่าคนน้อยกว่ามากนัก จึงต้องติดต่อรายงานไปยังผู้บังคับบัญชา โดยเข้าใจว่ากองทัพบกของไทยได้ส่งทหารไทยเข้ามาตั้งป้อมค่ายช่วยเหลือพวกกู้ ชาติไตย (ไทใหญ่) ทำให้เกิดลังเลใจขึ้นไม่กล้าสั่งบุก ประกอบกับเสียงช้างม้า ส่งเสียงร้องขรมทั่วไปหมด คล้ายบอกสัญญาณอันตราย สายลับก็เต็มไปด้วยความแปลกใจ ในสิ่งที่ตรงข้ามที่ตนสืบทราบเมื่อสองวันก่อน ไม่มีวี่แววจะมีค่ายพักหอรบและป้อมค่ายทหารอย่างใดเลย สร้างความผิดหวังให้แก่พม่าเป็นอย่างมาก ในที่สุดก็ต้องรีบถอนกำลังอย่างเงียบเชียบ ถอยกลับออกไปพร้อมด้วยความฉงนสนเท่ห์และเคลื่อนย้ายที่ตั้งกำลังของตนไปอีกจุดหนึ่ง อีกสองวันต่อมา เพื่อให้หายสงสัย กองทหารพม่าได้ออกมาลาดตระเวนยังจุดที่ตั้งป้อมค่ายที่ตนพบเห็น ด้วยการใช้กล้องส่องทางไกล สำรวจดูอย่างถี่ถ้วน ก็ปรากฏว่าไม่มีป้อมค่าย ไม่มีกำลังทหารไทย ไม่มีเสียงช้างม้า ไม่มีอาณาบริเวณตั้งทัพอันกว้างขวาง ไม่มีแม้แต่ไฟสุมขอนที่เห็นอยู่ในคืนวันนั้น มีแต่ป่าทึบ ไม้ไร่ขึ้น ระเกะระกะ เช่นที่ได้มาเห็นในคราวมาสืบฐานที่ตั้งของหนุ่มศึกหาญ คือเป็นป่าอยู่ตามเดิม แต่ก็ยังไม่แน่ใจ หน่วยลาดตระเวนพม่าจึงได้บุกเข้าไปสำรวจจนถึงที่ ก็ไม่พบซากอะไร นอกจากป่าไม้ที่รกรุงรัง ด้วยความมหัศจรรย์เช่นนี้ ทำให้ทหารพม่าตื่นเต้น แปลกใจ โจษขานกันไปทั่วทั้งกองทัพพม่า และรู้กัน ทั่วไปถึงชาวไตยเมืองหาง เมืองต่วน ต่างร่ำลือถึงอภินิหารของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ได้แสดงเดชานุภาพ ปกป้องคุ้มครองหนุ่มศึกหาญ ให้พ้นจากอันตรายในครั้งนี้" ส่วนทางพัน เอกเครือเสือ อดีตพระภิกษุปัณฑิต๊ะ รองหัวหน้าขบวนการหนุ่มศึกหาญ ยังกล่าวถึงพระ
วิญญาณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชว่า พระองค์ได้ทรงพระมหากรุณาธิคุณ คอยช่วยเหลือปกป้องหน่วย
กู้ชาติไตยไว้หลายครั้งหลายหน แทนที่จะตายหมู่กลับแคล้วคลาด รอดตายไปได้ เจ้าเครือเสือได้ยืนยันว่า
เวลากลางคืนพระองค์ทรงเคยมาเข้านิมิต สั่งให้ย้ายกำลังให้พ้นจากบริเวณที่พักโดยเร็ว ไม่อย่างนั้นจะตาย
กันหมด เมื่อสะดุ้งตื่นขึ้นได้ออกคำสั่งย้ายทันที เมื่อย้ายไปเพียง ๒-๓ ชั่วโมง ก็ปรากฏว่ากองทหารพม่าตาม
มาถึงบริเวณที่หน่วยกู้ชาติตั้งอยู่เดิม เป็นเช่นนี้อยู่เสมอ บางทีก็ทำให้เกิดสังหรณ์ว่ากองทหารพม่าจะบุกเข้า
จับตัว แล้วรีบเคลื่อนย้ายกำลังออกไป ก็ปรากฏว่ากองทหารพม่าบุกเข้ามายังที่ตั้งเดิมจริงๆ๓
การไปบวงสรวง สักการะเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรฯ ของนักรบกู้ชาติหนุ่มศึกหาญ จนได้รับชัยชนะในทุก
ครั้งที่ออกรบ ทำให้เกิดคำเล่าลือว่าสมเด็จพระนเรศวรฯ มาช่วยทหารไทใหญ่กู้ชาติ คำเล่าลือนี้มีผลสะเทือน
อย่างยิ่ง สามารถสร้างขวัญกำลังใจให้กับทหารและประชาชนไทใหญ่ พร้อมจะสนับสนุนขบวนการกู้ชาติ มากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ทหารพม่าจึงให้ทหารกะฉิ่น ฉิ่น ยะไข่ ลักลอบระเบิดเจดีย์สมเด็จ พระนเรศวรฯ และใช้รถแทร็กเตอร์ไถกวาดซากเจดีย์ลงทิ้งแม่น้ำหาง แต่ถึงอย่างนั้น ความเคารพเลื่อมใสในองค์สมเด็จพระนเรศวรฯ ในหมู่ชาวไทใหญ่ก็ยังมั่นคงไม่เสื่อมคลาย หลังเหตุการณ์ครั้งนี้ "ศึกไต" หรือทหารไทใหญ่ยิ่งเชื่อกันว่าสมเด็จพระนเรศวรฯ เสด็จมาช่วยทหารไทใหญ่ รบจริงๆ มิฉะนั้นทหารพม่าคงไม่มาทำลายพระเจดีย์องค์นี้ แม้จะเหลือแต่อิฐหัก กากปูน แต่ชาวบ้านและทหารไทใหญ่ก็ยังเก็บเอาซากอิฐ มาทำเป็นวัตถุบูชากันต่อไป ทั้งเอาไปวางบนหิ้งพระ บางคนนำไปให้ช่างฝีมือแกะสลักเป็นพระรูปของสมเด็จพระนเรศวรฯ ใช้พกติดตัว เป็นเครื่องรางไว้คุ้มครองในยามออกรบกับทหารพม่า ส่วน เหรียญบูชารูปสมเด็จพระนเรศวรฯ รุ่นแรกที่จัดทำขึ้นในรุ่นเจ้าน้อย-จอมพลสฤษดิ์ ก็ยิ่งกลายเป็นวัตถุ มงคลหายาก มีราคาสูงถึงหลักหมื่นในปัจจุบัน ทั้งเป็นที่เคารพและต้องการในหมู่นักรบไทใหญ่อย่างยิ่ง ส่วนซาก เจดีย์สมเด็จพระนเรศวรฯ ที่ถูกพม่าระเบิดทิ้งที่เมืองหางนั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ พ.ต.อ.นิรันดร ชัย นาม ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในขณะนั้น ได้ติดต่อทหารไทใหญ่ที่ประจำการอยู่ในหมู่บ้านเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ให้ขี่ม้าไปยังเมืองหาง เขตรัฐฉาน เพื่อนำอิฐจากพระสถูปเจดีย์องค์เดิมมา เป็นฐานของเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรฯ ที่จะสร้างใหม่ที่ตำบลเมืองงาย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ พระ เจดีย์องค์ใหม่นี้ มีชื่อเป็นทางการว่า "พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช" ตั้งอยู่บนเนื้อ ที่ ๒๕ ไร่ เริ่มสร้างเมื่อวันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๒ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๓ ตัวพระ สถูปเจดีย์เป็นทรงระฆังคว่ำ ฐานกว้าง ๑๐.๓๐ x ๒๕.๑๒ เมตร มีพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงยืน ถือคนโทในลักษณะคว่ำลง รอบพระสถูปมีภาพปั้นดินเผาเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ทั้งหมด ๔ ภาพ ภาพแรกเป็นภาพเดียวกับพระบรมรูปด้านหน้า อีก ๓ ภาพเป็นภาพสงครามยุทธหัตถี ภาพเสด็จพระ ราชดำเนินท่ามกลางพสกนิกรจำนวนมาก และภาพพระราชทานเพลิงศพ ใน ปีที่ทหารไทใหญ่ขี่ม้าไปรวบรวมอิฐหักกากปูนจากเมืองหางกลับมาให้ทางการไทย สร้างพระเจดีย์องค์ ใหม่นี้ เป็นปีเดียวกับการก่อตั้งกองทัพกู้ชาติไทใหญ่ที่เข้มแข็งในอดีตอีกขบวนการ หนึ่ง คือกองทัพสหปฏิวัติไทใหญ่ (SURA-Shan Union Revolutionary Army 1969-1985) ภายใต้การนำของเจ้ากอนเจิง หรือนายพลโมเฮง




สมเด็จพระนเรศวรฯ ในยุคกองทัพกู้ชาติของเจ้ายอดศึก

เรื่องโดย : นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว

พันเอกเจ้ายอดศึก เข้าเป็นทหารในกองทัพ SURA เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ขณะมีอายุได้ ๑๗ ปี และฝึกงานด้าน การข่าวอยู่กับเจ้ากอนเจิงหลายปี กว่าจะออกรบแนวหน้าเมื่อ ขุนส่าผู้นำกองทัพเมิงไตอาร์มี่ (MTA-Mong Tai Army 1985-1995) วางอาวุธกับรัฐบาลพม่าในเดือนมกราคม ๒๕๓๙ พันเอกเจ้ายอดศึกไม่ยอมจำนน หากวางแผนพาทหารภายใต้บังคับบัญชา ๘๐๐ นาย ข้ามแม่น้ำสาละวิน กลับไปทางฝั่งตะวันตกกลางป่ารัฐฉาน ใช้เวลา ๓ ปีรวบรวมกองทัพกู้ชาติไทใหญ่ (SSA[South]-Shan State Army) ขึ้นมาใหม่ และกลับมาตั้งกองบัญชาการสูงสุดที่ดอยไตแลง เคลื่อนไหวอยู่ บริเวณชายแดนไทย-รัฐฉานไม่มีตัวเลขแน่ชัดว่าขณะนี้ กองทัพของเจ้ายอดศึกมีกำลังพลเท่าใด แต่มีการประเมินจากหน่วยข่าวกรองของไทยว่า ปัจจุบันกองกำลัง SSA มีทหารไม่น้อยกว่า ๗,๐๐๐ นาย และทหารไทใหญ่ภายใต้การนำของพันเอกเจ้า ยอดศึก ต่างก็มีเครื่องรางสำคัญคือ "เหรียญสมเด็จพระ นเรศวรฯ" คล้องเชือกป่านห้อยคอไว้คุ้มครองให้ความมั่นใจ ยามออกหน้าศึกสู้รบกับพม่า เช่นเดียวกับทหาร ไทใหญ่ตั้งแต่รุ่น "ขบวนการหนุ่มศึกหาญ" เมื่อเกือบร่วม ๕๐ ปีก่อนเป็นต้นมา ความเชื่อมั่นนับถือในองค์สมเด็จพระนเรศวรฯ ของเหล่าทหารไทใหญ่ เห็นได้ชัดเจนอย่างยิ่งในวาระ
ครบรอบ ๔๐๐ ปีของการสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรฯ โดยทางกองทัพ SSA ของพันเอกเจ้ายอดศึก ได้
จัดพิธีรำลึกและบวงสรวงดวงพระวิญญาณของสมเด็จพระนเรศวรฯ อย่างยิ่งใหญ่บนดอยไตแลง รัฐฉาน ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น. ของวันอังคารที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ที่ผ่านมา พระบรมรูปหล่อสำริดสมเด็จพระนเรศวรฯ ประทับนั่งและทรงหลั่งอุทกธาราประกาศอิสรภาพให้ชาติไทย ได้รับการอัญเชิญจากทาง SSA ไว้บนหิ้งบูชาบนเวทีหน้าลานกว้างกลางยอดดอย เพื่อให้ทหารและ ประชาชนไทใหญ่ได้ทำพิธีบวงสรวงสักการะอย่างเป็นทางการ ใน พิธีระลึกและบวงสรวงดวงพระวิญญาณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชครั้งนี้ พันเอกเจ้ายอดศึกได้กล่าว สุนทรพจน์เป็นภาษาไทใหญ่ ถึงความสำคัญของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชต่อประชาชนไทใหญ่ที่พระองค์ ทรงคุ้ม ครอง เป็นทั้งมิ่งขวัญและกำลังใจของกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ ให้ต่อสู้ปลดปล่อยประเทศออกจาก การเป็นทาสของพม่า เพื่อเอกราช และความสงบผาสุกของประชาชนไทใหญ่ตลอดมา สุนทรพจน์ของพันเอกเจ้ายอดศึก มีรายละเอียดดังนี้...

"ถึง แม้สมเด็จพระนเรศวรฯ จะเสด็จสวรรคตล่วงผ่านไปแล้วถึง ๔๐๐ ปี แต่ในจิตใจของประชาชนชาวไท
ใหญ่ ซึ่งมีใจรักชาติบ้านเมืองสืบต่อกันมา ยังคงมีใจเคารพนับถือสมเด็จพระนเรศวรฯ อยู่ตลอดเวลา พระ
นเรศวรฯ ทรงเป็นผู้รักชาติบ้านเมือง ไม่ยอมให้แผ่นดินไทยของท่านต้องตกเป็นเมืองขึ้นของชนชาติอื่น จึง
ตั้งใจต่อสู้ให้พ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของชนชาติอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายกย่องสรรเสริญอย่างยิ่ง ความใกล้ชิดระหว่างพระ นเรศวรฯ กับไทใหญ่นั้น มาจากช่วงที่พระนเรศวรฯ เสด็จประทับอยู่ที่เมืองหง สาวดีในฐานะเชลยศึก พระองค์ทรงสนิทสนมกับเจ้าคำก่ายน้อยเจ้าฟ้าไทใหญ่ซึ่งมีฐานะเป็นเชลยเช่นกัน ทั้งสองพระองค์ได้ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยตลอด จนกระทั่งพระนเรศวรฯ เสด็จกลับพิษณุโลก ทหารไทใหญ่บางส่วนได้เดินทางกลับมาพร้อมกับพระองค์มากเท่าที่จะมาได้ และอยู่ในกองทัพของพระนเรศวรฯ ร่วมทำการรบมาด้วยกันหลังจากบุเรง นองเสด็จสวรรคต โอรสของบุเรงนองคือนันทบุเรงขึ้นเสวยราชย์ ได้จัดเตรียมกำลังเพื่อเข้ายึดเมืองพิษณุโลก และเรียกร้องให้สมเด็จพระนเรศวรฯ นำตัวเจ้าฟ้าไทใหญ่และประชาชนซึ่งตามเสด็จพระองค์ไปอยู่ที่เมืองพิษณุโลกมอบ ให้พม่า แต่พระนเรศวรฯ ไม่ทรงยินยอม พระนเรศวรฯ ทรงเป็นกษัตริย์นักรบ ทรงนำประเทศไทยให้พ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของชนชาติอื่น และยังมีพระประสงค์จะนำไทใหญ่ให้พ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของชนชาติอื่นด้วย เช่นกัน พระองค์ทรงร่วมมือกับเจ้าคำก่ายน้อยของชาวไทใหญ่ทำการขับไล่ศัตรู พระองค์ทรงนำกำลังทหารเข้าไปถึงแผ่นดินของไทใหญ่ที่เขตเมืองหาง จังหวัดเมืองโต๋น ตรงข้ามจังหวัดเชียงใหม่ แต่ทรงพระประชวรเป็นฝีและโลหิตเป็นพิษ แล้วเสด็จสวรรคตที่นั่น ซึ่งเหล่าทหารได้ถวายพระเพลิงศพและสร้างเจดีย์บรรจุพระอัฐิของพระองค์ท่าน ไว้ที่หมู่บ้านห้วยอ้อ เขตเมืองหาง จังหวัดเมืองโต๋น คนไทใหญ่เรียกพระเจดีย์นี้ว่า "กองมูเจ้านเรศวรฯ" สมเด็จพระ นเรศวรฯ ไม่เพียงเป็นผู้มีบุญญาธิการที่ชาวไทยเคารพนับถือ แต่พระองค์ยังเป็นผู้ที่ชาวไทใหญ่ แสดงความนับถือมาโดยตลอดเช่นกัน ถึงแม้พระองค์จะเสด็จสวรรคตผ่านไปแล้วหลายร้อยปี แต่คนไทใหญ่ก็ยังเชื่อมั่นในบุญบารมีความศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ ในสมัยที่เจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะเป็นผู้นำกลุ่มหนุ่มศึกหาญ ซึ่งเป็นกลุ่มกู้ชาติกลุ่มแรกของไทใหญ่ เจ้าน้อยก็ได้สร้างเหรียญพระนเรศวรฯ แจกให้ทหารไทใหญ่ใน กองทัพกู้ชาติ ไว้เป็นที่เคารพบูชาในเวลาต่อมา ทางฝ่ายพม่าได้ระเบิดเจดีย์พระนเรศวรฯ ที่หมู่บ้านห้วยอ้อ เมืองหางทิ้งจนเหลือเพียงซากอิฐกลุ่มทหารไทใหญ่วิตกกันว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของพระนเรศวรฯ จะถูกทำลายหายไป เจ้ากอนเจิงซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชากองพลน้อยที่ ๗ ของกลุ่มหนุ่มศึกหาญจึงนำกำลังลูกน้อง ๒๑ คน ไปเอาซากอิฐจากสถูปเจดีย์เดิมมาส่งให้ทางเจ้าหน้าที่ไทย ประจำอยู่ที่ตำบลเมืองงาย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ทางการไทยจึงได้สร้างเจดีย์พระนเรศวรฯ องค์ใหม่ไว้ที่เมืองงาย ซึ่งยังคงมีปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ในขณะดำเนินการก่อสร้างพระสถูปเจดีย์องค์นี้ ชาวไทใหญ่ก็ได้ร่วมมือร่วมใจในการก่อสร้างเป็นอย่างดีถึงปัจจุบัน นี้ ในยุคสมัยที่ผมเป็นผู้นำของกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ (SSA) ผมก็ได้สืบทอดดำเนินการสร้างเหรียญพระนเรศวรฯ แจกจ่ายให้แก่ทหารกู้ชาติในกองทัพของผมอีกครั้งหนึ่ง ด้วยเหตุผลที่ว่า พวกเราชาวไทใหญ่มีความเคารพนับถือในบุญญาธิการและเจตนารมณ์ของพระองค์ บุคคล ที่มีความคิดสูงส่ง มีความสามารถ มีจิตใจรักเชื้อชาติบ้านเมืองแผ่นดิน ดังเช่นพระนเรศวรฯ นี้ ถึงแม้ว่าพระองค์จะเสด็จสวรรคตนานถึง ๔๐๐ ปีแล้วก็ตาม ชื่อเสียงและบารมีของพระองค์ก็ยังไม่เคยลืม เลือนไปจากจิตใจของชาวไทยและไทใหญ่ ผมมีความเชื่อมั่นว่า ถึงเวลาจะผ่านไปอีกหนึ่งพันปี พระองค์ก็จะยังคงอยู่ในใจของพวกเราตลอดไป ในวันนี้ พวกเราชาวไทใหญ่ได้มาร่วมกันจัดงานรำลึกวันครบรอบ ๔๐๐ ปีการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระ
นเรศวรฯ ด้วยเหตุผลที่พวกเราทุกคนมีจิตใจที่ระลึกถึงพระองค์ท่านอยู่เสมอมา เราขอพรจากพระองค์ท่าน
ให้ทรงช่วยคุ้มครองพวกเราชาวไทใหญ่ในการทำสงครามกู้ ชาติ ดังเช่นที่พระองค์ท่านเคยมีพระประสงค์
ต้องการให้ไทใหญ่พ้นจากการเป็นเมือง ขึ้นของชนชาติอื่น ขอให้พวกเราชาวไทใหญ่ทั้งหลายได้หลุดพ้น
จากการเป็นทาสของชนชาติอื่นโดยเร็ว ขอให้ดวงวิญญาณของพระองค์ท่านทรงช่วยคุ้มครองชาวไทใหญ่ของเราทั้ง หลายที่ทุกข์ยากลำบากอยู่ในขณะนี้ ให้พ้นจากการกดขี่ข่มเหงของชนชาติอื่นในเร็ววันด้วยเทอญ"

ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ในช่วงการวางอาวุธของกองทัพ MTA ของขุนส่า อันเป็นช่วงการเริ่มก่อตั้งกองทัพ SSA ของเจ้ายอดศึก ขณะนั้นความตึงเครียดของปัญหาชายแดนไทย-พม่ายังปะทุขึ้นเป็นระยะ ทหารพม่า
สามารถเข้ามาประชิดชายแดนไทยได้โดยตรง โดยไม่มีกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่เป็นแนวกันชน ความเชื่อ
เรื่องสมเด็จพระนเรศวรฯ ก็ได้ถูกนำมา "ตอกย้ำ" ถึงความสัมพันธ์แน่นแฟ้น ระหว่างไทยสยามกับไทใหญ่ อีกครั้ง โดยทางการไทยได้จัดสร้างศาลสมเด็จพระนเรศวรฯ ร่วมกับศาลเจ้าเมืองของบ้านหลักแต่งในหมู่บ้านเปียงหลวง อันเป็นหมู่บ้านประชาชนไทใหญ่ และครอบครัวของอดีตทหารไทใหญ่ในกองทัพSURA ของนายพลโมเฮง ศาลสมเด็จพระนเรศวรฯ ที่บ้านหลักแต่งนี้ ตั้งอยู่บนยอดดอยวัดฟ้าเวียงอินทร์ หันหน้าไปยังชายแดนที่มีกองทหารพม่าประจำการอยู่อีกฝั่งหนึ่ง ประจันหน้ากันอยู่พอดีแต่ "พายุทางการเมือง" ย่อมเปลี่ยนไปตามนโยบายและผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ ด้วยเหตุที่นักธุรกิจการเมืองไทยในยุคนี้ มีผลประโยชน์มหาศาลในกิจการที่ไปลงทุนในพม่า อุดมการณ์ที่มีร่วมกันระหว่างไทยสยามและไทใหญ่ ในเรื่องสมเด็จพระนเรศวรฯ จึงกลายเป็น "ปัญหา" ที่สะท้อนภาพแรงกระหน่ำของพายุการเมือง และพายุผลประโยชน์ในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี กลางปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ที่ผ่านมา ทางกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ SSA มีความตั้งใจที่จะสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไว้เป็นศูนย์รวมจิตใจให้ทหารและประชาชนไทใหญ่สักการบูชาบนยอดดอยไตแลง ฝั่งรัฐฉาน ประเทศพม่า แต่ทางฝ่ายไทยได้สั่งระงับไม่ให้กองกำลังกู้ชาติไทใหญ่สร้างอนุสาวรีย์ของ สมเด็จพระนเรศวรฯ บนยอดดอยไตแลง ทั้งที่ไทใหญ่ขึ้นไปสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรฯ ไว้ในแผ่นดินรัฐฉาน เพื่อประกาศเกียรติคุณของสมเด็จพระนเรศวรฯ และเพื่อไว้เคารพบูชา ไม่ได้ลบหลู่เจตนารมณ์ใดๆ ของสมเด็จพระนเรศวรฯ เลยสักน้อย

ในสมัย อดีตที่นโยบายของรัฐไทยจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากกองทัพกู้ชาติไทใหญ่ให้ช่วย หาข่าว ช่วย ปราบคอมมิวนิสต์ ช่วยเป็นแนวกันชน ป้องกันความรุนแรงจากทหารพม่า สมเด็จพระนเรศวรฯ คือ "อุดมการณ์" ที่ถูกปลูกฝังเพื่อเชื่อมร้อยไทยสยาม-ไทใหญ่ให้มีสำนึกของเชื้อชาติเดียวกัน ที่มี "วีรบุรุษ" คน เดียวกัน และมีเป้าหมายที่จะขับไล่ศัตรูที่มารุกรานอธิปไตยของชาติเช่นเดียวกันแต่ ในขณะนี้ กองทัพกู้ชาติไทใหญ่ถูกเขี่ยๆ ไปไว้ชายขอบ จะทำเป็นไม่มีหรือมองไม่เห็นก็ไม่ได้ เพราะความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนไทใหญ่ที่ถูกรัฐบาลทหารพม่าละเมิด สิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ทั้งฆ่าข่มขืนกันทั่วรัฐฉาน จับไปเป็นลูกหาบไว้เดินนำหน้ากองทหารพม่าเพื่อเคลียร์ทุ่นระเบิด เผาหมู่บ้าน แย่งชิงที่นา ทรัพย์สิน สัตว์เลี้ยง ฯลฯ จนคนไทใหญ่อพยพเข้ามาเต็มเมืองไทยหลายแสนคน และยังตั้งบ้านเรือนกระจุกอยู่ตลอดแนวชายแดนเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ซึ่งสำนักข่าวต่างๆ องค์กรต่างประเทศ และหน่วยงานทางสิทธิมนุษยชนจากทั่วทุกมุมโลก กำลังจดจ้องและเข้ามาตรวจสอบให้ความช่วยเหลือ ดังนั้นปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน จึงไม่อาจช่วยกันย่ำยี ปกปิด เพิกเฉย หรือละเลยได้อีกแล้ว เพราะเป็นสิ่งที่กำลังทิ่มตำสายตาของคนทั่วโลกอยู่ในเวลานี้ ส่วนสถานภาพของกองทัพกู้ชาติไทใหญ่ต่อรัฐไทยในห้วงเวลาปัจจุบัน แค่ดูจากเรื่องของ "สมเด็จพระนเรศวรฯ" ที่เปลี่ยนไปตามพายุการเมือง ก็เห็นชัดว่ายามนี้กองทัพกู้ชาติไทใหญ่ดูไม่ต่างอะไรกับหมาล่าเนื้อแก่ๆ ที่หมดประโยชน์ แถมจะยังเป็น "อุปสรรคในการลงทุน" ของนักธุรกิจการเมืองไทย เพราะขณะนี้แม้SSA จะยังคงเชื่อมั่นเคารพบูชา "วีรบุรุษ" องค์เดียวและองค์เดิมอย่างไม่แปรเปลี่ยน แต่ "สหาย" ผู้เคยร่วมก่อร่างสร้างอุดมการณ์เดียวกันมา ได้ถูกผลประโยชน์ค้ำคอค้ำปากให้ "แปรพักตร์" หันไปช่วยกันทำมาหากิน



สมเด็จพระนเรศวรฯ กับชาวบ้านไทใหญ่

เรื่องโดย : นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว

นอกจากความนับถือ ศรัทธาในอานุภาพบารมีของสมเด็จพระนเรศวรฯ ที่ยึดกุมจิตใจของทหารกู้ชาติไท ใหญ่แล้ว เราไม่ค่อยได้รู้หรือมองเห็นความสัมพันธ์ของชาวบ้านไทใหญ่ที่มีกับสมเด็จพระ นเรศวรฯ กันมากนักแต่เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๔๘ ที่ผ่านมา ทางกลุ่มผู้นำ SSA ส่งข่าวมาว่า ได้มีการพบพระบรมรูปหล่อสำริดของสมเด็จพระนเรศวรฯ ขนาดประมาณนิ้วหัวแม่โป้ง และคนพบพระบรมรูปหล่อนี้ได้ติดต่อมาที่ดอยไตแลง เพื่อนำมามอบให้กับพันเอกเจ้ายอดศึก
ชาวบ้านไทใหญ่คนนี้เล่าว่า เมื่อเดือนเมษายน หน้าแล้ง เขาออกจากบ้านไปเผาไร่ทางตะวันออกของฝั่งคง
(ริมน้ำสาละวิน) เพื่อเตรียมผืนดินไว้ทำไร่ช่วงหน้าฝนที่จะมาถึง ในขณะเผาไร่มีกอหญ้ากอวัชพืชที่ไม่ยอม ติดไฟอยู่กระจุกหนึ่ง จะเผากี่ครั้งไฟก็ลามไปไม่ถึง ด้วยความสงสัยเขาจึงไปถางกอวัชพืชนี้ออก และรื้อหมากหินในบริเวณนั้น เพียงขุดลงไปจอบแรก ก็พบพระบรมรูปหล่อสำริดของสมเด็จพระนเรศวรฯ จมดิน อยู่เขาเอาพระบรมรูปหล่อสำริดนี้กลับมาบ้าน ทดลองยิงด้วยปืนลูกซอง แต่ปืนกลับยิงไม่ออก ยาม ค่ำคืน เขาหลับฝัน มีคนมาบอกให้เอาไปมอบให้เจ้ายอดศึกผู้นำของ SSA ที่ดอยไตแลง แต่ขณะนั้นเกิดสงคราระหว่างกองกำลังว้าแดงและไทใหญ่ รอบดอยไตแลงมีการสู้รบอย่างหนัก กว่าเขาจะไปถึงและมอบพระบรมรูปหล่อสมเด็จพระนเรศวรฯ ให้เจ้ายอดศึกได้ดังตั้งใจ ก็ล่วงเข้าเดือนกรกฎาคมไปแล้ว ภาพถ่ายที่ ทาง SSA ส่งมาพร้อมรายละเอียดของรูป บอกให้รู้ว่า พระบรมรูปหล่อนี้มีขนาดสูงไม่เกิน ๓ นิ้ว เป็นรูปสมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงยืนถือคนโทหยาดน้ำ และมีอักษรไทยปัจจุบันจารึกไว้ว่า พระนเรศวรมหาราช เชียงดาว ซึ่งพอจะคาดประมาณได้ว่า อายุเก่าแก่ที่สุดของพระบรมรูปหล่อนี้ น่าจะอยู่ในสมัยซึ่งมีการสร้างเจดีย์ สมเด็จพระนเรศวรฯ ที่ตำบลเมืองงาย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ ๓๖ ปีที่ผ่านมา แม้จะไม่ใช่ ของเก่าแก่อายุเป็นร้อยปี แต่ในความเชื่อถือศรัทธาของชาวบ้านไทใหญ่ ประกอบกับเรื่องเล่า ของอานุภาพ ไฟไม่ไหม้-ปืนยิงไม่ออก ที่ผูกพันมากับพระบรมรูปหล่อสมเด็จพระนเรศวรฯ ก็ทำให้ชาวบ้าน ไทใหญ่คนหนึ่งเดินทางเสี่ยงตายฝ่าสนามรบที่ยังเต็มไปด้วยการ ปะทะระหว่างกองกำลังว้าแดงและ SSA ดั้นด้นมาถึงดอยไตแลง เพื่อสนองตอบต่อเจตนารมณ์ของพระบรมรูปหล่อสมเด็จพระนเรศวรฯ ที่ตั้งใจจะ มาอยู่ในความครอบครองของผู้นำของพวกเขา ดังความฝันที่ชี้นำให้เดินทางมาถึงกองบัญชาการใหญ่ของ SSA ได้อย่างปลอดภัย เรื่องเล่านี้โจษขานอยู่ในหมู่ประชาชนและทหารไทใหญ่ และในสถานการณ์สู้รบอันหนักหน่วงระหว่างว้าแดงและไทใหญ่ในห้วงเวลาปัจจุบัน การปรากฏขึ้นของพระบรมรูปหล่อสำริดสมเด็จพระนเรศวรฯ ยิ่งช่วยตอกย้ำว่า สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงแผ่บารมีมาคุ้มครองทหารกู้ชาติไทใหญ่อย่างแน่แท้ ความเชื่อมั่นศรัทธาของคนไทใหญ่ที่มีต่อสมเด็จพระนเรศวรฯ นั้น มีรากฐานสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการปกครองระบอบ "เจ้าฟ้า" ของไทใหญ่ที่สืบทอดมาเป็นพันปี แต่เพิ่งถูกทำลายหมดสิ้นไปกับการยึดอำนาจในสหภาพพม่าของนายพลเนวินเมื่อวัน ที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ แม้ปัจจุบันนี้ เจ้าฟ้าของไทใหญ่จะดับสูญ เชื้อสายเจ้าฟ้ากระจัดกระจายไปอยู่คนละทิศละทาง แต่ศรัทธาอันหยั่งรากลึกมาเป็นพันปีในจิตใจคนไทใหญ่ไม่เคยสูญหาย หลักฐานปรากฏชัดในทุกบ้านของทหาร SSA หรือกระทั่งบนเวทีงานฉลองปีใหม่ของไทใหญ่ สูงสุดแห่งการเคารพบูชานั้นคือพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ตระหง่านสง่าอยู่กลางยอดดอยไตแลง พันเอกเจ้ายอดศึกกล่าวถึงปรากฏการณ์นี้ว่า ..
"คน ไทใหญ่ทั้งสมัยนี้ทั้งสมัยโบราณเชื่อถือพระนเรศวรฯ คนยุคนี้เชื่อถือพระเจ้าอยู่หัว ทุกคนทุกบ้านมีรูป
ในหลวง-พระราชินี เพราะถ้าดูประวัติศาสตร์คนเชื้อชาติไท คนไทใหญ่ คนไทย คนลาว คนไทในเวียดนาม
คนไทในจีนเป็นเชื้อสายเดียวกัน แล้วปัจจุบัน พระเจ้าอยู่หัวมีในประเทศไทยองค์เดียว ไทใหญ่จึงเคารพรัก
และเชื่อถือพระองค์มาก" เดินอยู่ในบ้านคนไทใหญ่ แหงนมองผนังห้อง ใกล้หิ้งบูชาพระ จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาอย่างยิ่งที่จะได้พบรูปในหลวง-พระราชินี ประดับอยู่โดยถ้วนทั่ว ไม่ต่างอะไรจากบ้านคนไทย ส่วนความเชื่อในพระราชวงศ์นั้น คนไทใหญ่ยิ่ง "เหมือน" สุดๆ กับคนไทย ชนิดไม่มีผิดเพี้ยนเลยสักน้อย

ครูเคอแสน นักประวัติศาสตร์และเลขาธิการของสภากอบกู้รัฐฉานเล่าให้ฟังว่า เมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน ครั้งที่
สมเด็จพระเทพรัตนฯ เสด็จเยือนพม่า และเสด็จไปที่เมืองตองจี คนไทใหญ่ตื่นเต้นกันมาก รู้สึกเหมือนเจ้าฟ้า ของตนกลับบ้าน ใครสามารถไปรับเสด็จได้ก็พากันออกไป ส่วนคนที่ไม่มีโอกาส ต่างก็จ้องตาเป๋งไปที่ทีวี
พม่า คอยดูภาพถ่ายทอดการเสด็จเยือนพม่าครั้งนั้นของสมเด็จพระเทพรัตนฯ อย่างปลาบปลื้ม แต่ที่คนไท
ใหญ่ตั้งใจดูๆ จ้องๆ กันอย่างละเอียดก็คือ "หมายเลข" ของเครื่องบินพระที่นั่งนั่นแหละ ครูเคอแสนเล่าว่าปี
นั้นคนตองจีแห่ซื้อเลขเด็ดและถูก "หวย" ตัวเลขเครื่องบินสมเด็จพระเทพรัตนฯ กันทั้งเมือง จนเจ้ามือหวย
แทบจะล่มจมไปเลย ครูยังบอกอีกด้วยว่าที่จำได้แม่นเพราะเพื่อนของครูในมหาวิทยาลัยตองจีได้ เงินจาก
หวยในคราวนั้นเป็นหมื่นจ๊าด!

ด้วยรากฐานทางวัฒนธรรมที่ใกล้ เคียงกัน แม้ระบบเจ้าฟ้าจะล่มสลาย แต่ความเชื่อถือศรัทธาในระบบ กษัตริย์ที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทใหญ่มาเป็น พันปี ความรู้สึกของคนไทใหญ่ คนไทย หรือกระทั่งคนลาว
คนเขมร จึงไม่ได้ต่างกันเลยสักน้อย สำหรับคนไทใหญ่ สถาบันกษัตริย์ยังเป็นศูนย์รวมของจิตใจ เป็นแบบอย่างทางศีลธรรมอันดีงาม และเป็นสัญลักษณ์ของบารมีที่จะปกแผ่พระราชอำนาจมาปกป้องคุ้มครองพวกเขา เมื่อไม่มีเจ้าฟ้า ความรักความศรัทธานี้ก็ได้ทุ่มเทสู่กษัตริย์ไทยอย่างมั่นคงและเต็มที่ โดยเฉพาะใน
ยามซึ่งพวกเขาต้องประสบกับชะตากรรมอันขมขื่น และต้องการขวัญกำลังใจในช่วงเวลาของการกอบกู้เอก
ราชของชาติไทใหญ่ อันลำบากตรากตรำในยุคปัจจุบันนับเป็นเวลาเกือบ ๕๐ ปีแล้วที่รัฐไทยได้สถาปนาความเชื่อเรื่องสมเด็จพระนเรศวรฯ กษัตริย์นักรบลงสู่กองทัพกู้ชาติไทใหญ่ และความเชื่อมั่นศรัทธานี้ก็ได้ฝังรากลึกอย่างมั่นคงจากพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ ระหว่างไทยสยามกับไทใหญ่ที่มีร่วมกันมา การต่อสู้กู้ชาติของคนไทใหญ่ผูกพันกับตำนานของสมเด็จพระนเรศวรฯ มาตั้งแต่เริ่มแรก จนแม้นักธุรกิจการเมืองยุคนี้จะผลักดันนโยบายให้เมินเฉยต่อพวกเขา แต่สำหรับนักรบไทใหญ่แล้ว ศรัทธาสูงสุดที่มีให้สมเด็จพระนเรศวรฯ ยังฝังลึกอยู่เต็มหัวใจ ด้วยความเชื่อมั่นว่า ในยามออกรบทำสงครามกู้ชาติ ในยามมืดมิดสิ้นหวัง สมเด็จพระนเรศวรฯ ยังทรงปกป้องคุ้มครองคนไทใหญ่เสมอพระองค์ไม่เคยทรงทอดทิ้งพวกเขา……


เชิงอรรถ

๑. ปราณี ศิริธร กล่าวถึงประวัติของพระสถูปเจดีย์องค์นี้ไว้ในสารัตถคดีเหนือแคว้นแดนสยาม หน้า ๒๔๑
ว่า "เมื่อสมเด็จพระเอกาทศรถพระอนุชาได้ทรงทราบข่าวการเสด็จสู่สวรรคตแล้ว ก็ทรงยกทัพสู่เมืองหาง
เพื่อจัดการพระบรมศพ โดยร่วมกับเจ้าฟ้าไตยทั้งปวง ถวายพระเพลิงที่เมืองหางนั้นเอง เมื่อถวายพระเพลิง
แล้วก็ได้ทรงแบ่งพระบรมอัฐิส่วนหนึ่งบรรจุไว้ในสถูปเจดีย์ ที่ร่วมกันสร้างขึ้น โดยพระราชทานชื่อว่าพระ
สถูปกองมูขุนหอคำไตย คำว่ากองมู ภาษาไตยก็คือพระเจดีย์ ส่วนคำว่า "กองมูขุนหอคำไตย" ออกเสียงไตย ตามสำเนียงของไตย ซึ่งหมายถึงพระเจดีย์ของพระเจ้าแผ่นดินไทย พระอัฐิอีกส่วนหนึ่งได้นำกลับไปยังกรุง ศรีอยุธยา"
๒. ปราณี ศิริธร. สารัตถคดีเหนือแคว้นแดนสยาม. เชียงใหม่ : ลานนาสาร, ๒๕๒๘, หน้า ๒๓๘-๒๓๙.
๓. เรื่องเดิม, หน้า ๒๔๒. เอกสารประกอบการเขียน ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ และนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว. ลับลมปมชาติ. กรุงเทพฯ : openbooks, ๒๕๔๘. นวลแก้ว บูรพวัฒน์. "สมเด็จพระนเรศวรฯ กับชนกลุ่มน้อย," ใน จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๘. ปราณี ศิริธร. สารัตถคดีเหนือแคว้นแดนสยาม. เชียงใหม่ : ลานนาสาร, ๒๕๒๘. พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับที่เป็นสมบัติของบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน. พระนคร : ก้าวหน้า , ๒๕๐๗. วันดี สันติวุฒิเมธี. กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชาวไทใหญ่ชายแดนไทย-พม่า กรณีศึกษา : หมู่บ้านเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ของคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี พ.ศ. ๒๕๔๕.


สัมภาษณ์

๑. พันเอกเจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) และผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพกู้ชาติ
ไทใหญ่ (SSA) ดอยไตแลง รัฐฉาน ประเทศพม่า
๒. เจ้าตืนสาง เลขาธิการสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ดอยไตแลง รัฐฉาน ประเทศพม่า
๓. ครูเคอแสน เลขาธิการสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ดอยไตแลง รัฐฉาน ประเทศพม่า
๔. ร้อยเอกจายกอน ฐานป่าไม้ ดอยไตแลง รัฐฉาน ประเทศพม่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น