หน้าเว็บ

วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ศาลพม่าตัดสินกักบริเวณ “ออง ซาน ซูจี” ต่ออีก 1 ปี 6 เดือน

ศาลพม่าตัดสินกักบริเวณ “ออง ซาน ซูจี” ต่ออีก 1 ปี 6 เดือน
ออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านพม่า ถูกศาลในเรือนจำอินเส่งพิพากษาว่ามีความผิดข้อหาละเมิดกฎการกักบริเวณ ส่งผลให้นางซูจีต้องถูกกักขังต่อไปอีก 1 ปี 6 เดือน

(แฟ้มภาพ) ออง ซาน ซูจี ปราศรัยกับฝูงชนหน้าที่ทำการพรรคเอ็นแอลดีในรัฐอาระกัน เมื่อ 26 มิ.ย. 45 ล่าสุดศาลพม่าตัดสินกักบริเวณเธอต่อเป็นเวลา 18 เดือน (ที่มา:
burmacampaign - CC)

นางออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD (National League for Democracy) ถูกศาลในเรือนจำอินเส่งพิพากษาว่ามีความผิด ข้อหาละเมิดกฎการกักบริเวณ ส่งผลให้นางซูจีต้องถูกกักขังต่อไปอีก 1 ปี 6 เดือน โดย ทางการพม่าอนุญาตให้ผู้สื่อข่าวในพม่าเข้าร่วมฟังการพิพากษาในชั้นศาล โดยการพิพากษาในวันนี้ (11 ส.ค.) ศาลในเรือนจำอินเส่งประกาศจำคุกนางซูจีต่อไปอีก 3 ปี แต่มีคำสั่งลดโทษให้เหลือเพียง 1 ปี 6 เดือน โดยนางซูจีจะถูกกักบริเวณให้อยู่แต่ในบ้านพักในกรุงย่างกุ้งเหมือนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ก่อนการพิพากษาจะเริ่มขึ้น นางซูจีได้เปิดเผยกับทนายความของเธอว่า เธอพร้อมที่จะเผชิญกับสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่กำลังจะเกิดขึ้นกับเธอ ซึ่งผลการพิพากษาเป็นไปตามที่นักการทูตในพม่าได้คาดการณ์ไว้ หลังการพิจารณาคดีนางซูจียืดเยื้อมาเป็นเวลาสองเดือน หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลพม่าใช้การบุกรุกของชายอเมริกันเป็นเครื่องมือในการกักขังนางซูจี ในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งในปีหน้า ด้านทนายความของนางซูจีเปิดเผยว่า กฎหมายที่รัฐบาลพม่านำมาใช้ลงโทษนางซูจีนั้นไม่สามารถใช้ได้แล้ว เนื่องจากล้มเลิกไปแล้วเมื่อ 20 ปีก่อน และกล่าวว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของทางการพม่าควรร่วมรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ใน ครั้งนี้ด้วย เนื่องจากหละหลวมต่อหน้าที่โดยการปล่อยให้บุคคลภายนอกบุกรุกเข้ามาบริเวณ บ้านพักของนางซูจี ประชาชนในย่างกุ้งเปิดเผยว่า ในช่วงใกล้วันพิพากษานางซูจี ทางการพม่าได้เพิ่มกำลังรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดทั่วกรุงย่างกุ้ง โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยประจำการตามถนนหลายสายแม้ในช่วงเวลากลางคืน ขณะที่สื่อท้องถิ่นของพม่าประกาศห้ามประชาชนออกมาประท้วงหากทางการพิพากษา นางซูจีว่ามีความผิด อย่างไรก็ตาม คดีนี้รัฐบาลทหารพม่าถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนานาชาติ ซึ่งทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป หรือ EU (European Union) ได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพื่อต่อต้านการกักขังนักโทษการเมืองกว่า 2,000 คน รวมถึงนางซูจี ที่ผ่านมา นางซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านคนสำคัญถูกรัฐบาลพม่าคุมขังเป็นเวลา 14 ปี ในช่วงระยะเวลา 20 ปีของการถูกจับและถูกปล่อยตัว โดยในอดีต รัฐบาลพม่าไม่ยอมรับชัยชนะของนางซูจีในเลือกตั้งเมื่อปี 2533 แต่กลับยึดอำนาจและจับกุมนักการเมือง นักเคลื่อนไหวและประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลทหาร ประเทศพม่าอยู่ภายใต้การปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการทหารมายาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 และยังไม่มีทีท่าว่าจะยอมลงจากอำนาจจนถึงปัจจุบัน


ที่มา: ศูนย์ข่าวสาละวิน แปลจากสำนักข่าว Aljazeera, 11 ส.ค.52

วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2552

หนึ่งทศวรรษออง ซาน ซูจี กับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ



หนึ่งทศวรรษ ออง ซาน ซูจี กับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ
นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย พรรคฝ่ายค้านในประเทศพม่า ได้รับการประกาศชื่อให้เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี พ.ศ.2534 โดยคณะกรรมการโนเบลแห่งประเทศนอรเวย์ มอบให้เป็นเกียรติในการต่อสู้ตามแนวทางสันติวิธีของเธอในการเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า อองซาน ซูจี เป็นธิดาของนายพล ออง ซาน อดีตผู้นำการต่อสู้เรียกร้องเอกราชของประเทศพม่า