หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553

จากความคิดเห็นหนึ่งถึงรัฐฉาน





อดีตเจ้าไทยใหญ่ท่านหนึ่ง วิเคราะห์การต่อสู้เพื่อเอกราช ของคนไทยใหญ่ตลอดเวลากว่า ๕๐ ปีว่า
"สาเหตุที่คนไทยใหญ่ ยังไม่สามารถกู้ชาติได้ เพราะขาดความเป็นเอกภาพ ตั้งแต่ต่อสู้กันมา คนไทยใหญ่ ไม่เคยอยู่ใต้บังคับบัญชาของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ต่างคนต่างลุกขึ้นมาต่อสู้ แตกเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย รวมตัวกันด้วยความลำบาก และนี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ภาพการต่อสู้ของชาวไทยใหญ่ไม่ชัดเจนในสายตาคนภายนอก

 แตกต่างจากกะเหรี่ยง หรือมอญ ซึ่งมีองค์กรทางการเมือง ที่โดดเด่นในการสู้รบ แม้ว่าช่วงเวลาหนึ่ง ทั่วโลกจะเคยได้ยินชื่อ ขุนส่า และกองทัพเมืองไต หรือ MTA (Mong Tai Army) ในฐานะองค์กรทางการเมือง ชาวไทยใหญ่ที่มีกองกำลังติดอาวุธ ทันสมัยที่สุด และเป็นศัตรูอันดับต้น ๆ ของกองทัพพม่า แต่ชื่อเสียงดังกล่าว ก็โด่งดังเพียงชั่วเวลาไม่นาน เพราะขุนส่าหันไปจับมือ กับรัฐบาลพม่าในภายหลัง ขุนส่าจึงเป็นได้แค่ "ราชาเฮโรอีน" มิใช่นักรบกู้ชาติชาวไทยใหญ่ อย่างที่เคยประกาศเจตนารมณ์ไว้ หลังจากกองทัพเมืองไตล่มสลาย เรื่องราวของนักรบไทยใหญ่ ก็เงียบหายไปอีกครั้ง แม้ว่าวันนี้ แผ่นดินรัฐฉาน ยังคงมีนักรบไทยใหญ่ ต่อสู้อย่างเข้มแข็งอยู่ในราวป่าก็ตาม

บนแผ่นดินรัฐฉาน การต่อสู้ของนักรบไทยใหญ่ดำเนินมายาวนานกว่า ๕๐ ปี และยังดำเนินต่อไปอีกยาวนาน จนกว่าชาวไทยใหญ่จะได้รับอิสรภาพ
ประวัติศาสตร์การสู้รบของชาวไทยใหญ่ เปิดฉากในปีแรก ตั้งแต่รัฐฉาน ครบกำหนดแยกตัวเป็นรัฐอิสระ ตามสนธิสัญญาปางหลวงปี พ.ศ. ๒๕๐๑ หลังจากรัฐบาลพม่าไม่ทำตามข้อตกลง แถมส่งกองทัพพม่า เข้ามายึดครองแผ่นดินรัฐฉาน ชาวไทยใหญ่ จึงจับอาวุธลุกขึ้นต่อต้าน กลุ่มแรกสุด คือ หนุ่มศึกหาญ (Noom Suk Harn) ภายใต้การนำของเจ้าหยั่นต๊ะ เริ่มทำการสู้รบอยู่แถว ๆ ชายแดนไทย-พม่า ในปีต่อมา โบ หม่อง นายตำรวจชาวว้า และเจ้า ส่าน ทูน เจ้าฟ้าไทยใหญ่ ได้นำกำลังพล เข้าร่วมกับกลุ่มหนุ่มศึกหาญ ช่วยกันรบจนสามารถเอาชนะกองทัพพม่าที่เมืองตั้งยาน ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ของรัฐฉาน การรบครั้งนี้สร้างขวัญ และกำลังใจให้แก่ชาวไทยใหญ่มากขึ้น แต่น่าเสียดายที่หลังจากร่วมกันต่อสู้เพียงหนึ่งปี บรรดาแกนนำ เริ่มมีความคิดที่แตกต่างกัน จึงแยกออกไปตั้งกลุ่มใหม่อีกหลายกลุ่ม ต่างคนต่างต่อสู้ตามแนวทางของตน



จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๐๗ มหาเทวีเฮือนคำ แห่งแคว้นยองห้วย วีรสตรีเหล็กของชาวไทยใหญ่เห็นว่าองค์กรไทยใหญ่ กำลังขาดเอกภาพในการสู้รบ จึงพยายามรวบรวมองค์กร ที่กระจายอยู่ทั่วรัฐฉาน ให้กลับมาต่อสู้ร่วมกันในนาม SSA (Shan State Army) โดยมีขุน จ่า นุ และเจ้าช้าง ณ ยองห้วย เป็นผู้นำ

แต่การรวมตัวของชาวไทยใหญ่ ก็มีเอกภาพอยู่ได้ไม่นาน เมื่อกองกำลัง SSA ประสบปัญหาขาดแคลนอาวุธ และงบประมาณ แกนนำจึงเริ่มมีความคิดแตกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งต้องการเข้าร่วมกับคอมมิวนิสต์พม่า หรือ CPB (Communist Patry of Burma) ซึ่งตั้งกองกำลังอยู่ในรัฐฉานติดชายแดนจีน อีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการเข้าร่วม เพราะไม่อยากเสียอุดมการณ์ อดีตเจ้าไทยใหญ่เล่าถึงสถานการณ์ในขณะนั้นว่า "ตอนนั้นพรรคคอมมิวนิสต์พม่า เข้ามาชวนไทยใหญ่ให้ร่วมรบกับพวกเขา ผู้นำไทยใหญ่บางคนก็คิดว่า แต่ละปีเรามีเงินซื้ออาวุธ จากเมืองไทยปีละไม่เกินพันกระบอก ถ้าเรารวมกับพรรคคอมมิวนิสต์ เราจะได้อาวุธจากจีนฟรี ๆ ปีละนับหมื่นกระบอกก็ได้ แล้วเราจะกู้ชาติได้เร็วกว่านี้ ได้อาวุธครบเมื่อไร ค่อยแยกตัวออกจากพรรคคอมมิวนิสต์ แต่บางคนคิดว่า ถ้าไปรวมกับเขา เราต้องเสียอุดมการณ์กู้เอกราชของเรา ก็เลยไม่ยอมเข้าร่วม



หลังจากนั้นกองกำลัง SSA ก็แตกออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (CPB) มีผู้นำสองคน คือ สาย จ่าม เมิ้ง และ เสือ แท่น ปฏิบัติการอยู่แถวรัฐฉานตอนบน ติดชายแดนจีน อีกส่วนหนึ่งคือ SSA ที่ยังยึดมั่นอุดมการณ์เดิม แต่เปลี่ยนผู้นำใหม่เป็น สาย ป่าน ปฏิบัติการแถวรัฐฉานตอนล่าง
ทว่าพรรคคอมมิวนิสต์ ดูจะรู้ทันความคิดของชาวไทยใหญ่ เรื่องการสะสมอาวุธ ชาวไทยใหญ่ จึงได้อาวุธไว้ในครอบครองเพียงหยิบมือเดียว ตลอดเวลาหลายปี ที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อเห็นว่า การณ์มิได้เป็นไปตามที่คาดหวัง สาย จ่าม เมิ้ง จึงตัดสินใจนำกำลังพล ๗๐๐ คน แยกตัวออกจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่า มุ่งหน้าสู่ภาคใต้ของรัฐฉาน เพื่อรวมกับกองกำลัง SSA อีกครั้ง แต่ระหว่างการเดินทาง เขาถูกลอบสังหารเสียชีวิต นายทหารจำนวนมากขวัญเสีย และปฏิเสธที่จะสู้รบต่อไป นักรบไทยใหญ่จึงขาดกำลังพล และไร้เอกภาพมากยิ่งขึ้น




จนกระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์พม่าล่มสลาย เสือ แท่น จึงพากำลังพลชาวไทยใหญ่ ที่เหลืออยู่ในพรรคคอมมิวนิสต์พม่า กลับมารวมกับกองกำลัง SSA อีกครั้ง โดยในเวลานั้น กองกำลัง SSA นำโดยเจ้า ไซ้ เล็ก ผู้นำชาวไทยใหญ่ ที่ได้ชื่อว่ามีอุดมการณ์มุ่งมั่น ไม่ยอมรับความช่วยเหลือ จากพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่เคยแปดเปื้อน กับการค้ายาเสพย์ติด และพยายามรวบรวมองค์กรไทยใหญ่ ให้เป็นหนึ่งเดียวตลอดระยะเวลาที่เป็นผู้นำ ในขณะที่ SSA กำลังกลับมามีเอกภาพอีกครั้ง นายพลโม เฮง หรือ กอนเจิง นายทหารระดับผู้นำของ SSA กลับแยกตัวออกไปตั้งกลุ่มใหม่ โดยใช้ชื่อว่า SURA (Shan United Revolutionary Army) แต่ภายหลังเข้าร่วมกับกลุ่ม SUA (Shan United Arym) ของขุนส่า ใช้ชื่อองค์กรใหม่ว่า กองทัพเมืองไต หรือ MTA มีขุนส่าเป็นผู้นำสูงสุด นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๘ เป็นต้นมา ชื่อเสียงของกองทัพเมืองไต ก็เป็นที่รู้จักทั้งโลก ในฐานะกองกำลังติดอาวุธชาวไทยใหญ่ ที่ทันสมัยที่สุด เพราะมีรายได้ จากธุรกิจยาเสพย์ติด มาซื้ออาวุธปีละหลายพันล้าน เฉพาะแค่จำนวนภาษีค่าผ่านทาง ที่เก็บได้ในแต่ละปีก็ไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ ล้านบาท ยังไม่นับธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพย์ติดอีกไม่รู้กี่พันล้าน กองทัพเมืองไตจึงกลายเป็นความหวังของชาวไทยใหญ่

ขุนส่าเคยอ้างถึงเหตุผลที่ค้าผงขาวว่า "คุณต้องไม่ลืมว่า พวกเราชาวฉานกำลังทำสงครามกู้ชาติ เราต้องการหลุดพ้นจากกองทัพพม่า ที่กดขี่เรามาตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐ ผงขาว(เฮโรอีน)เป็นหนทางในการหาเลี้ยงชีพเพียงอย่างเดียวของพวกเรา และเป็นธุรกิจเพียงอย่างเดียว ที่สามารถหาเงินมาสนับสนุนการต่อสู้ของเราได้"ขุนส่ากล่าวทิ้งท้าย

ฐานที่มั่น และเขตอิทธิพลของ MTA อยู่บริเวณรัฐฉานตอนใต้ ขุนส่าเคยประกาศเขตตนเองว่าเป็น "รัฐอิสระ" มีเมืองหลวงชื่อโฮมอง ตั้งอยู่กลางป่า ห่างจากพรมแดนไทย ในระยะเดินเท้าประมาณ ๑๐ ชั่วโมง บริเวณนี้เรียกกันว่า "สามเหลี่ยมทองคำ" ดินแดนเชื่อมต่อระหว่างไทย ลาว และพม่า แหล่งผลิตเฮโรอีนใหญ่ที่สุดในโลก กล่าวกันว่าร้อยละ ๖๐ ของเฮโรอีน ที่คร่าชีวิตผู้เสพทั่วโลกมาจากบริเวณนี้ โฮมองเป็นเมืองทหาร ในยามปกติทุก ๆ เช้าทหาร MTA นับพันจะฝึกศิลปการสู้ เป็นเวลาสามชั่วโมง แต่ในยามสงคราม เมื่อทหารพม่าบุกโจมตีทหารเกือบทั้งหมด จะถูกส่งไปรับมืออยู่แนวหน้า บนลานดิน ในค่ายจะเหลือเพียง "เยาวชนผู้กล้า" วัยไม่เกิน ๑๕ ปี หรือที่ใคร ๆ รู้จักดีในนาม "ทหารเด็กแดนขุนส่า" ฝึกหลักสูตร "ค่ายเสือ" อยู่เท่านั้น เด็กพวกนี้ส่วนใหญ่ มาจากหมู่บ้านที่ถูกทหารพม่าบุกเข้าปล้น และฆ่าผู้คนในหมู่บ้าน เด็กหลายคน กลายเป็นเด็กกำพร้า หลายคนตาย เพราะความอดอยาก พ่อแม่ที่มีลูกชาย จึงส่งลูกของตนมาที่นี่ "สายใอ" เด็กชายวัย ๙ ขวบ ใช้เวลาเดินทางหนึ่งวัน จากหมู่บ้านพาโอมายังโฮมอง "บ้านผมจนมาก บางวันทั้งบ้านได้กินแต่ข้าวชามเดียวเท่านั้น พ่อจึงส่งผมมาที่นี่เพื่อให้ผมเป็นทหาร อยู่ที่นี่สบายกว่าอยู่บ้าน มีข้าวกิน มีหนังสือให้เรียน และมีเพื่อนเล่นเยอะแยะ"


ที่โฮมองมีเด็ก ๆ วัยใกล้เคียงกับสายใอร่วม ๑,๐๐๐ คน (ข้อมูลในปี พ.ศ.๒๕๓๘) นอกเหนือจากกินอิ่ม นอนหลับ สิ่งที่เด็กน้อยทุกคนปรารถนาลึก ๆ ในใจคือ การกู้ชาติไทยใหญ่ จากเงื้อมมือของทหารพม่า "หมิ่นออ" เด็กชายวัย ๘ ขวบ เล่าประสบการณ์ และความปรารถนาของตนว่า "ผมเห็นคนล้มลงตายต่อหน้าต่อตา ผมเอาแต่ร้องไห้ และกลัวจนตัวสั่น แต่ตอนนี้ผมไม่กลัวแล้ว เพราะกำลังจะได้เป็นทหาร ต่อไปผมจะออกไปสู้กับพวกพม่า ทหารพม่าเป็นคนเลว พวกมันมาที่หมู่บ้าน มาฆ่าชาวบ้าน และฆ่าสัตว์เลี้ยงของเรา" แต่น่าเสียดายที่ความฝันของ "เยาวชนผู้กล้า" ต้องดับวูบลงในเดือนมกราคม ปีพ.ศ.๒๕๓๙ เมื่อขุนส่าผู้เคยประกาศตัวว่า จะสู้รบเพื่อชาวไทยใหญ่ ประกาศมอบตัว และวางอาวุธต่อรัฐบาลพม่า "คืนไส" ผู้อำนวยการสำนักข่าวสารไต กล่าวถึงรอยร้าวภายในกองทัพเมืองไต ก่อนล่มสลายว่า "คนไทยใหญ่หลายคนเชื่อว่า ขุนส่าจะช่วยกู้เอกราชได้ เลยยกให้ขุนส่าเป็นใหญ่ แต่ขุนส่ากลับปกครอง ในแบบเอกาธิปไตย คนจะได้ขึ้นเป็นใหญ่ ขึ้นอยู่กับว่า ขุนส่าชอบหน้าหรือไม่ นายทหารระดับผู้ใหญ่ส่วนมากมักเป็นคนเชื้อสายจีน ส่วนนายทหารไทยใหญ่ที่มีความสามารถมักถูกขุนส่าสังหาร ก่อนวางอาวุธ ขุนส่าสังหารนายทหารไทยใหญ่ระดับผู้นำเกือบ ๓๐ คน นายทหารไทยใหญ่บางส่วนจึงเริ่มก่อกบฏ กำลังพลของขุนส่าเริ่มลดลง และหันไปมอบอาวุธให้พม่าในที่สุด ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นเคยประกาศว่า ถ้าวางอาวุธจะมอบให้คนไทยใหญ่
หลังจากขุนส่าวางอาวุธ ทหารไทยใหญ่ก็แยกย้ายกันไปคนละทิศละทาง หลายคนตั้งกองกำลังสู้รบ เป็นของตนเอง หลายคนวางมือไม่สู้รบอีกต่อไป "วิชัย" อดีตนายทหารกองทัพเมืองไต เล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงนั้นว่า "พอพวกเราได้ข่าวว่าขุนส่า กำลังจะมอบตัวกับทหารพม่า หลายคนก็แอบหนีออกจากค่ายทหาร ถ้าถูกจับได้ก็โดนฆ่า ทหารไทยใหญ่ที่อยู่กับขุนส่า ถ้าเลิกเป็นทหารจะถูกฆ่าทุกคน ตอนขุนส่าประกาศวางอาวุธ พวกทหารเด็กทหารผู้ใหญ่วิ่งหนีกระจัดกระจาย บางคนก็ไปเข้าร่วมกับทหารไทยใหญ่ ที่แยกตัวออกไป ส่วนผมไม่ได้เป็นทหารต่อ เพราะไม่อยากให้แม่เป็นห่วง ก็เลยเดินทางมาหางานทำที่ประเทศไทย ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่กองทัพเมืองไตล่มสลาย ทางกลุ่ม SSA ซึ่งต่อสู้เพื่อชาวไทยใหญ่มายาวนาน และไม่เคยแปดเปื้อน กับยาเสพย์ติดเหมือนขุนส่า ก็ต้องเผชิญความสูญเสียครั้งใหญ่เช่นกัน เมื่อเจ้า ไซ้ เล็ก ผู้นำคนสำคัญเสียชีวิตลง กองกำลัง SSA แตกกระจายเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย ไม่มีผู้นำองค์กร ที่เป็นเสาหลักเหมือนเก่า ต่างคนต่างสู้รบอยู่ในป่า ควบคุมพื้นที่ตามจำนวนกำลังพลที่มีอยู่ แผ่นดินรัฐฉาน จึงตกอยู่ในมือของคนหลายกลุ่ม เฉพาะกลุ่มที่แยกตัวจากกองทัพเมืองไต มีมากกว่าสี่กลุ่ม อาทิ กลุ่มพันตรีกั๊นยอด กลุ่มพันตรีเคมิน กลุ่มพันตรีพุมมา และกลุ่มพันตรีโงะ หาญ เป็นต้น ยังไม่นับกลุ่มที่แยกตัวจาก SSA อีกนับไม่ถ้วน ด้วยเหตุนี้ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.๒๕๓๙ เป็นต้นมา จึงยากที่จะชี้ชัดลงไปได้ว่า องค์กรใดเป็นตัวแทนกู้ชาติชาวไทยใหญ่ ที่แท้จริง

หลังจากกองทัพเมืองไตล่มสลายและขุนส่าเข้าไปอยู่ในกรุงย่างกุ้ง โดยมีกองทัพพม่าส่งกองกำลัง เข้าควบคุมพื้นที่โฮมอง ซึ่งเคยเป็นเขตอิทธิพลของขุนส่า พร้อมกับส่งกองกำลังบุกยึด และโจมตีหมู่บ้าน ในรัฐฉานอย่างหนัก จนในที่สุดกองกำลังที่แตกออกเป็นเสี่ยง ๆ ก็เริ่มอ่อนกำลังลง และยอมเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าทีละกลุ่ม โดยสลอร์กยอมให้กองกำลังไทยใหญ่ มีผลประโยชน์ จากธุรกิจในพื้นที่เล็ก ๆ น้อย ๆ และชาวบ้าน หาเลี้ยงชีพได้ตามปกติ (แต่ต้องเสียภาษีให้สลอร์ก)

ปัจจุบันกองกำลังไทยใหญ่ที่ยังทำการสู้รบ เหลือเพียงกลุ่มเดียว คือ กลุ่ม SSA South (Shan States Army's Southern Commander) นำโดยเจ้ายอดศึก ปฏิบัติการอยู่บริเวณพื้นที่ตอนกลาง และตอนใต้ของรัฐฉาน ตั้งแต่เมืองเมิงสู้ กุ๋นฮิง จนถึงเมิงปั่น รวม ๑๑ เมือง สลอร์กใช้วิธีจัดการกับกองกำลังไทยใหญ่กลุ่มสุดท้าย แบบ "ถอนรากถอนโคน" ด้วยการย้ายชาวบ้านทั้ง ๑๑ เมือง มากกว่า ๑,๔๐๐ หมู่บ้าน เข้าไปอยู่เมืองอื่นที่มีกองกำลังพม่าควบคุม ตอกย้ำด้วมาตรการตัดเสบียง ที่ชาวบ้านส่งไปสนับสนุนกองกำลัง SSA ที่ซ่อนตัวอยู่ในป่า โดยประกาศให้พื้นที่ทั้งหมดเป็นเขตยิงอิสระหรือ free-fire zones หากพบใครในเขตนี้ ยิงได้ทันที !
ทหารพม่าให้เวลาชาวบ้านย้ายข้าวของ ไม่เกินเจ็ดวัน หลังจากนั้นถ้าพบใครอยู่ในหมู่บ้าน จะยิงทิ้งทันที ชาวบ้านส่วนใหญ่ ต้องจากบ้านเดิมของตัวเอง ในช่วงก่อนฤดูเก็บเกี่ยว เสบียงอาหารจากปีที่แล้ว เหลือไม่มากพอให้ประทังชีวิต เมื่อย้ายไปอยู่ในค่ายอพยพ ที่ไม่มีเสบียงอาหาร จากองค์กรพัฒนาเอกชนใด ๆ ส่งไปช่วยเหลือ ชาวบ้านบางส่วน จึงขออนุญาตทหารพม่า กลับไปเก็บเกี่ยวผลผลิตของตนที่บ้านเดิม โดยต้องเสียค่าใบอนุญาตกลับบ้าน ให้ทหารพม่าตามระเบียบ (ของรัฐบาลพม่า) แต่ผลปรากฏว่า ชาวบ้านสองกลุ่มจำนวน ๕๖ คนจากเมืองกุ๋นฮิง ถูกทหารพม่าอีกกลุ่มหนึ่งสังหารหมู่ อย่างโหดเหี้ยม และทารุณ หญิงแม่ลูกอ่อนที่รอดชีวิตมาได้เล่าว่า "ระหว่างเดินทางกลับ พวกเราถูกทหารพม่า อีกกลุ่มหนึ่งหยุดขบวนไว้ ทหารพม่าให้ชาวบ้านทั้งหมดยืนเรียงกัน แล้วยิงใส่ทีละคน สามีของฉันก็รวมอยู่ในนั้นด้วย โชคดีที่ฉันมีลูกอ่อน พอทหารยิงปืนนัดหนึ่งแล้วไม่ดัง เขาก็ใจอ่อน บอกให้ฉันวิ่งหนีไป แต่ผู้หญิงแม่ลูกอ่อนอีกคนหนึ่งโชคร้าย" แม้ว่าเธอจะพยายาม บีบน้ำนมของตัวเอง เพื่อแสดงให้ทหารเหล่านั้นรับรู้ว่าเธอมีลูกน้อย แต่พวกทหารพม่าก็ไม่สนใจ กลับขู่ว่าจะฆ่าลูกของเธอด้วย"

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ทหารพม่าลำเลียงศพชาวบ้าน ที่ตัดหัวแล้วจำนวน ๒๖ ศพมาเรียงไว้ตามถนนสายเก็งลม - กุ๋นฮิง เพื่อ "เตือน" ไม่ให้ชาวบ้าน ออกจากบริเวณที่จัดไว้ให้ และหลังจากนั้นไม่กี่วัน ศพไร้หัวอีก ๑๒ ศพก็ถูกนำมาเรียงบนถนนอีกสายหนึ่ง ในเมืองเดียวกัน ความโหดร้ายเหล่านี้ ยังไม่นับกรณีเด็กหญิงวัย ๑๒ ขวบ ซึ่งถูกยิงทิ้ง ขณะเธอกำลังนำหญ้าไปเลี้ยงวัว หญิงสาวถูกสังหารด้วยระเบิดขณะกำลังหาหน่อไม้ตามท้องนา ชาวบ้านที่กำลังหาน้ำผึ้งในป่า "ถูกยิง" ในปี พ.ศ.๒๕๔๐ มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด ๖๖๕ คน (เฉพาะตัวเลขที่ยืนยันได้จากการพบศพ) นอกจากถูกสังหารด้วยอาวุธสงคราม ชาวบ้านยังล้มตาย เพราะความอดอยาก เนื่องจากถูกควบคุมอยู่ในค่ายอพยพที่ไม่มีเสบียงอาหารเพียงพอ และไม่มีสิทธิ จะออกไปหาอาหารด้วยตนเอง ดังนั้นจึงไม่อาจประเมินตัวเลขที่แท้จริง ของผู้เสียชีวิตชาวไทยใหญ่ ทั้ง ๑๑ หมู่บ้านได้

แม้พม่าจะใช้นโยบายอพยพชาวบ้าน ออกจากพื้นที่การสู้รบทั้งหมด กองกำลังเจ้ายอดศึก ก็ยังคงสู้รบอย่างเข้มแข็งเช่นเดิม และยังไม่มีทีท่าจะยอมเจรจาหยุดยิงแต่อย่างใด ถึงแม้ว่าการสู้รบจะทำให้ชาวบ้านจำนวนมากเดือดร้อน แต่การยอมเจรจาหยุดยิง ก็ไม่ได้หมายความว่า ชาวบ้านจะมีชีวิตที่ดีไปกว่าเดิม องค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งทำงานช่วยเหลือชาวไทยใหญ่ที่อพยพมาจากรัฐฉาน กล่าวถึงสถานการณ์ในพื้นที่หยุดยิงว่า " ตอนนี้สถานการณ์ในหมู่บ้าน เลวร้ายกว่าตอนก่อนหยุดยิงเสียอีก เพราะทหารพม่าสามารถเข้าออกหมู่บ้านอย่างสะดวก อยากได้ทรัพย์ของสินชาวบ้านก็ใช้อาวุธปล้น แต่ชาวบ้านกลับถูกเก็บภาษีอย่างหนัก ตำราเรียนของชาวไทยใหญ่ ต้องผ่านการตรวจสอบจากทหารพม่า ถ้าเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง จะถูกตัดออกหรือทำลายทันที ข้อดีของการหยุดยิง มีเพียงอย่างเดียวคือ ชาวบ้านไม่ต้องย้ายเข้าไปอยู่ในพื้นที่ควบคุม ของทหารพม่า ไม่ต้องอดตาย หรือถูกทหารพม่าฆ่าโหด เหมือนในพื้นที่ที่ยังมีการสู้รบเท่านั้นเอง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าก็คือ ทุกวันนี้ผู้นำไทยใหญ่ ที่หยุดยิงไปแล้ว มีธุรกิจในพื้นที่ หลายคนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น จึงยากที่จะกลับไปสู้รบอีกครั้ง เพราะเขาร่ำรวยกับธุรกิจทีได้รับการอนุญาตจากรัฐบาลทหารพม่า ไม่ต้องลำบากแล้วนั่นเอง การหยุดยิงจึงไม่ได้แก้ไขปัญหาทางการเมืองเลย".

2 ความคิดเห็น:

  1. อยากให้ทั่วโลกได้รับรู้ความเป็นอยู่ของพวกเขาว่ามันลำบากแค่ไหน และอยากให้ชาวโลกหันมามองเห็นความสำคัญมากขึ้นครับ เขาก็คือพีน้องร่วมโลกเราชาติหนึ่ง เราควรช่วยเหลื่อและให้กำลังใจเขานะครับ

    ตอบลบ
  2. ขอเป็นกำลังใจให้พีน้องชาวไทยใหญ่ทุกๆคนครับ

    ตอบลบ