หน้าเว็บ

วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2552

หนึ่งทศวรรษออง ซาน ซูจี กับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ



หนึ่งทศวรรษ ออง ซาน ซูจี กับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ
นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย พรรคฝ่ายค้านในประเทศพม่า ได้รับการประกาศชื่อให้เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี พ.ศ.2534 โดยคณะกรรมการโนเบลแห่งประเทศนอรเวย์ มอบให้เป็นเกียรติในการต่อสู้ตามแนวทางสันติวิธีของเธอในการเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า อองซาน ซูจี เป็นธิดาของนายพล ออง ซาน อดีตผู้นำการต่อสู้เรียกร้องเอกราชของประเทศพม่า
เธอได้กลายเป็นศูนย์กลางและสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่านับตั้งแต่ปี 2531 หลังเกิดเหตุการณ์ที่รัฐบาลทหารปราบปรามเข่นฆ่านักศึกษาประชาชนที่รวมตัวกันเรียกร้องประชาธิปไตยกลางใจเมืองหลวงร่างกุ้งเหตุการณ์เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2532 กลายเป็นตำนานเล่าขานสืบมา เมื่อ ออง ซาน ซูจี เริ่มต้นใช้รูปแบบการต่อสู้แบบสันติวิธีเผชิญหน้ากับทหารฝ่ายรัฐบาล ณ บริเวณปากลุ่มน้ำอิระวดี ออง ซาน ซูจี เดินหน้าอย่างสงบเข้าหาปากกระบอกปืนที่ฝ่ายทหารขึ้นไกปืนเตรียมพร้อมเล็งมาที่เธอ เพื่อบังคับให้เธอหยุดการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งออง ซาน ซูจี ปฏิเสธที่จะเดินทางออกนอกประเทศตามข้อเสนอของรัฐบาลทหาร แต่่เลือกที่จะอยู่เป็นกำลังใจ และเป็นสัญลักษณ์ที่ปลุกเร้าความกล้าหาญของประชาชนพม่าในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศ แม้ว่าจะต้องถูกกักบริเวณให้อยู่แต่ในบ้านพักของเธอเองเป็นเวลาถึงหกปี (กรกฎาคม 2532 - กรกฎาคม 2538) ท่ามกลางการกดดันทุกรูปแบบของรัฐบาลเผด็จการทหาร ออง ซาน ซูจี ยืนยันที่จะใช้สันติวิธีในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยให้ประชาชนชาวพม่า เธอเรียกร้องให้มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลทหาร กับพรรคฝ่ายค้านของเธอ และผู้นำชนชาติกลุ่มน้อยต่างๆ เพื่อร่วมกันกำหนดอนาคตของประเทศและประชาชน สิบปีหลังจากได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ออง ซาน ซูจี ยังคงมั่นคงอยู่กับความเชื่อในแนวทางสันติวิธีของเธอ และเลือกที่จะต่อสู้กับอำนาจเผด็จการทหารอยู่ภายในแผ่นดินเกิด เธอใช้ชีวิตภายใต้อิสรภาพที่ถูกจำกัดบันทึกเรื่องราวของประชาชนพม่าที่มีชีวิตขมขื่น ทุกข์ยาก ภายใต้เงื้อมมือเผด็จการ ซูจีบอกเล่าสถานการณ์ความเป็นไปในบ้านเกิดให้โลกรู้ผ่านตัวหนังสือ เรียกร้องต่อโลกภายนอก โดยเฉพาะเพื่อนบ้านใกล้ชิดอย่างประเทศไทย ให้เมตตาเอื้ออารีต่อชีวิตของพี่น้องร่วมชาติของเธอที่ข้ามพรมแดนหนีตายจากอำนาจเผด็จการมาพึ่งพิงผืนดินไทย

ออง ซาน ซูจี : กับชีวิตไกลบ้าน ออง ซาน ซูจี เกิดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2488 เธอมีอายุเพียงสองขวบเมื่อบิดาคือนายพล ออง ซาน ถูกลอบสังหาร เธอใช้ชีวิตวัยเด็กในพม่าแวดล้อมด้วยกัลยาณมิตรของบิดาผู้วายชนม์ จนอายุได้ 15 ปี ซูจีติดตามมารดาซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งฑูตพม่าประจำประเทศอินเดียซูจี ได้รับปริญญาตรี สาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ จาก St. Hugh's College, Oxford University ในปี พ.ศ.2510 และเริ่มทำงานกับสำนักงานเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ที่นิวยอร์ก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2512-2514 จากนั้นไปทำงานเป็นเจ้าหน้าที่วิจัย กระทรวงต่างประเทศ ของรัฐบาลภูฐาน พ.ศ.2515 ซูจีแต่งงานกับ ดร. ไมเคิล อริส นักวิชาการชาวอังกฤษและให้กำเนิดบุตรชายคนแรก อเล็กซานเดอร์ ในปี 2516 และบุตรชายคนที่สอง คิม ในปี 2520 ปี พ.ศ.2528 -2529 ซูจีได้รับเชิญเป็นนักวิชาการแลกเปลี่ยนที่ศูนย์เอเซียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ปี พ.ศ.2530 เป็นนักวิจัยที่สถาบันอินเดียศึกษา ในซิมลา

ออง ซาน ซูจี : เส้นทางกลับบ้านเกิด เส้นทางชีวิตที่พลิกผัน ออง ซาน ซูจี เดินทางกลับบ้านเกิดในพม่าในเดือนมีนาคม พ.ศ.2531 เพื่อมาพยาบาลมารดาที่กำลังป่วยหนัก เธอไม่ได้คาดคิดว่าการเดินทางกลับบ้านครั้งนี้ จะทำให้ชีวิตเรียบง่ายของเธอพลิกผัน กลายเป็นตำนานการต่อสู้เพื่อสันติภาพของโลก ในขวบปีต่อมาสถานการณ์วุ่นวายในประเทศพม่าที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้ในช่วงนั้น กดดันให้ นายพล เนวิน ต้องลาออกจากตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม และเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2531 ประชาชนนับล้านรวมตัวกันในเมืองร่างกุ้ง อันเป็นเมืองหลวงของประเทศพม่า เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย การประท้วงแผ่ขยายไปทั่วประเทศ ผู้นำทหารได้สั่งการให้ใช้กำลังอาวุธสลายการชุมนุม ทำให้ผู้ร่วมชุมนุมหลายพันคนเสียชีวิต วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2531 ออง ซาน ซูจี เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นครั้งแรก โดยส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล เรียกร้องให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อเตรียมการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 26 สิงหาคม ออง ซาน ซูจี ในฐานะธิดาของอดีตผู้นำเรียกร้องเอกราชของประเทศพม่า ขึ้นกล่าวปราศรัยเป็นครั้งแรก ต่อหน้าฝูงชนประมาณ500,000 คน ที่มาชุมนุมกันที่เจดีย์ชเวดากอง ในร่างกุ้ง ซูจีเรียกร้องให้มีรัฐบาลประชาธิปไตย แต่ผู้นำทหารกลับจัดตั้งสภาฟื้นฟูกฎระเบียบแห่งรัฐ (The State Law and Order Restoration Council : SLORC) ขึ้นแทน และได้ทำการปราบปรามสังหาร และจับกุมผู้ต่อต้านอีกหลายร้อยคนวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2531 ออง ซาน ซูจี ได้ร่วมจัดตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยขึ้น (National League for Democracy: NLD) และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคชีวิตทางการเมืองของนางออง ซาน ซูจี เริ่มต้น นับแต่นั้นออง ซาน ซูจี : อิสรภาพที่สูญเสีย บนเส้นทางการต่อสู้เพื่อสันติภาพและประชาธิปไตย เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2532รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าใช้กฎอัยการศึก สั่งกักบริเวณ นางออง ซาน ซูจี ให้อยู่แต่ภายในบ้านพัก เป็น เวลา 3 ปี โดยปราศจากข้อกล่าวหาและความผิดใดๆ นาง ออง ซาน ซูจี เริ่มอดอาหารประท้วงเป็นครั้งแรก เพื่อเรียกร้องให้นำเธอไปกักขังรวมกับนักศึกษาที่ถูกจับกุมไปจากบ้านพักของเธอ ซูจียุติการอดอาหารประท้วงเมื่อรัฐบาลทหารสัญญาว่าจะปฏิบัติต่อนักศึกษาเหล่านั้นอย่างดี เดือนพฤษภาคม 2533 พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของเธอชนะการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลเผด็จการทหารไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งดังกล่าว กลับได้ยื่นข้อเสนอว่า จะยอมปล่อยเธอเป็นอิสระ ถ้าเธอยินยอมเดินทางออกนอกประเทศพม่า เพื่อไปอยู่กับสามีและบุตรชายสองคนที่ประเทศอังกฤษ ออง ซาน ซูจี ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว นางซูจีรู้ดีว่า วันใดที่เธอก้าวพ้นประเทศพม่า รัฐบาลเผด็จการทหารจะไม่ยอมให้เธอได้กลับคืนมาร่วมต่อสู้กับผู้คนร่วมแผ่นดินเกิดอีกเลย เธอจึงเลือกที่จะอยู่เป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้อย่างสันติวิธีเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า และปฏิเสธที่จะเดินทางออกนอกประเทศแม้ว่าต่อมาสภาฟื้นฟูกฎระเบียบแห่งรัฐจะพยายามกดดัน โดยแก้กฎหมายเพื่อขยายเวลากักบริเวณ ออง ซาน ซูจี จาก 3 ปี เป็น 5 ปี และประกาศขยายเวลาการกักกันเพิ่มขึ้นอีก 1 ปีออง ซาน ซูจี ได้รับอิสรภาพครั้งแรกในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2538

ออง ซาน ซูจี : หัวใจแกร่ง กับชีวิตที่ปราศจากความกลัวแม้จะได้รับการปล่อยตัว แต่ออง ซาน ซูจี ยังคงถูกติดตามความเคลื่อนไหวและไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างอิสระ เธอถูกห้ามไม่ให้ปราศรัยต่อหน้าฝูงชนที่มาชุมนุมอยู่หน้าบ้านของเธอเอง ครั้งใดที่เธอพยายามเดินทางออกจากบ้านพักเพื่อไปพบปะฝูงชน เจ้าหน้าที่รัฐจะติดตามไปทุกแห่งหน พร้อมกับฝูงชนจัดตั้งจำนวนหนึ่งที่พยายามทำร้ายเธอและเพื่อนร่วมคณะ ครั้งหนึ่งฝูงชนเหล่านี้ได้ใช้ก้อนหิน และวัตถุอันตรายอื่นๆ กว้างปาเข้าใส่รถของเธอจนเสียหาย ทั้งๆ ที่อยู่ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซูจี ยังคงดำเนินการต่อสู้ด้วยแนวทางสันติวิธี โดยใช้วิธีเขียนจดหมาย เขียนหนังสือ บันทึกวีดีโอเทปเพื่อส่งผ่านข้อเรียกร้องของเธอต่อรัฐบาลทหารพม่า ออกมาสู่ประชาคมโลกอย่างต่อเนื่องตราบเท่าที่สามารถทำได้ เดือนกรกฎาคม 2541 ออง ซานซูจี นั่งประท้วงอยู่ในรถยนต์ของเธอเองเป็นเวลาห้าวันหลังจากถูกตำรวจสกัดไม่ให้รถยนต์ของเธอเดินทางออกจากร่างกุ้งเพื่อไปพบปะกับสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย เดือนสิงหาคม 2541 ออง ซาน ซูจี ถูกสกัดไม่ให้เดินทางไปพบปะสมาชิกพรรคของเธออีกครั้งหนึ่ง ออง ซาน ซูจี ใช้ความสงบ เผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเวลาถึงหกวัน จนเสบียงอาหารที่เตรียมไปหมด เธอถูกบังคับพาตัวกลับที่พักหลังจากนั้นเดือนมีนาคม 2542 รัฐบาลเผด็จการทหารพยายามกดดันให้ออง ซาน ซูจี เดินทางออกนอกประเทศ ด้วยการปฏิเสธคำขอวีซ่าของ ดร.ไมเคิล อริส สามีที่กำลังป่วยหนักของเธอที่ต้องการมาเยี่ยมภรรยาเป็นครั้งสุดท้ายที่เมืองร่างกุ้ง ออง ซาน ซูจี ตัดสินใจเด็ดเดี่ยวที่จะไม่เดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปเยี่ยมสามี ตามแผนการของรัฐบาลทหาร ดร.ไมเคิลอริส สิ้นใจในวันที่ 27 มีนาคม 2542 ณ กรุงลอนดอน โดยที่ภรรยารับฟังข่าวด้วยหัวใจหมองหม่นอยู่อีกซีกโลกหนึ่ง ทั้งสองมีโอกาสกล่าวลาและใช้ชีวิตร่วมกันครั้งสุดท้ายช่วงที่ ดร.ไมเคิล เดินทางมาเยี่ยมภรรยาเมื่อวันคริสต์มาส ของปี 2538วันที่ 24 สิงหาคม 2543 นาง ออง ซาน ซูจี และสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยถูกตำรวจสกัดไม่ให้เดินทางออกพ้นชานกรุงร่างกุ้งเพื่อไปดำเนินกิจกรรมทางการเมือง นาง อองซาน ซูจี ยืนยันที่จะดำเนินการตามเจตนารมณ์ โดยใช้วิธีเผชิญหน้าอย่างสงบกับตำรวจอยู่ ณ จุดที่ถูกสกัดเป็นเวลาถึง 9 วัน จนถึงวันที่ 2 กันยายน ตำรวจปราบจลาจลเกือบ 200 นายพร้อมอาวุธครบมือ ได้บังคับนำเธอกลับเข้าเมือง สองสัปดาห์ต่อมา นาง ออง ซาน ซูจี วางแผนที่จะเดินทางออกจากเมืองร่างกุ้งอีกครั้งหนึ่ง เธอพร้อมคณะผู้นำพรรคฝ่ายค้านเดินทางไปที่สถานีรถไฟ เพื่อซื้อตั๋วโดยสาร แต่รัฐบาลเผด็จการทหารได้ส่งหน่วยรักษาความปลอดภัยพิเศษไปควบคุมตัวเธอกลับบ้านพัก พร้อมทั้งวางกำลังเจ้าหน้าที่ควบคุมจุดต่างๆ บนถนนหน้าบ้านพักของนางซูจี ไม่ยอมให้ผู้ใดเข้าพบปะเยี่ยมเยียนเธอนาง ออง ซาน ซูจี ถูกกักบริเวณโดยปราศจากข้อกล่าวหาและความผิดอีกเป็นครั้งที่สอง ในระยะเวลา 13 ปี ของการใช้สันติวิธีต่อสู้กับความรุนแรงและอำนาจเผด็จการในประเทศพม่าวันที่ 8 ธันวาคม 2544 ขณะที่ผู้รักสันติภาพทั่วโลกร่วมกันเฉลิมฉลองวาระครบรอบหนึ่งร้อยปีของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ พร้อมกับฉลองวาระครบสิบปีที่นาง ออง ซาน ซูจี ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ยังคงถูกจำกัดอิสรภาพอยู่ในประเทศพม่า ไม่มีโอกาสเดินทางไปร่วมพิธีเฉลิมฉลองรางวัลเกียรติยศแห่งชีวิตพร้อมกับผู้ได้รับรางวัลคนอื่นๆ ที่กรุงออสโล ประเทศนอรเวย์ นาง ออง ซาน ซูจียังใช้ชีวิตอย่างปราศจากความกลัว หากเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งความหวัง และกำลังใจ ที่พร้อมจะยืนหยัดมั่นคงกับการร่วมต่อสู้เคียงข้างพี่น้องร่วมชาติของเธอบนแผ่นดินเกิดด้วยความเชื่อว่า "ความรักและสัจจะจะโน้มน้าวหัวใจมหาชนได้มากกว่าการบังคับ และกำแพงคุกจะส่งผลสะเทือนต่อผู้ที่อยู่ข้างนอกด้วยเช่นกัน"

ข้อมูลเพิ่มเติม
พม่า: เพื่อนบ้านฝั่งตะวันตกของไทยประเทศพม่า ครอบคลุมเนื้อที่กว่า 675,000 ตารางกิโลเมตรบนแผ่นดินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพรมแดนด้านตะวันออกที่ติดต่อกับไทยยาวถึง 2,400 กิโลเมตร และมีพรมแดนด้านอื่นๆ ติดกับประเทศอินเดีย จีน และบังคลาเทศ พม่า มีประชากรรวมประมาณ 50 ล้านคน กอปรด้วยชาวเบอร์มัน (Burman) และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดน เช่น กะเหรี่ยง (Karen) มอญ (Mon) ไทยใหญ่ (Shan) ยะไข่ (Rakhine) คะฉิ่น (Kachin) ฉิ่น (Chin) คะยา (Kayan) กะเรนนี (Karenni) ฯลฯพม่า: ดินแดนเหนือลุ่มน้ำอิระวดี กับอดีตอันรุ่งโรจน์ และร่วงโรย พม่า เคยมีอดีตอันรุ่งโรจน์ ภายใต้การปกครองของกษัตริย์นักรบหลายพระองค์ ที่พยายามรวบรวมสร้างความเป็นปึกแผ่นเหนือดินแดนเหนือลุ่มน้ำอิระวดี ในอดีต ประเทศพม่า เป็นแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีเทือกเขาสูง ป่าทึบ และลุ่มน้ำอิระวดี เป็นเส้นแดนแบ่งวิถีชีวิตของผู้คนต่างเผ่าพันธุ์ แม้ในช่วงที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของอังกฤษ พม่ายังคงได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม และยังทำหน้าที่เป็นอู่ข้าวของภูมิภาคเอเชียตลอดมาพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 2491 แต่กลับกลายเป็นเอกราชที่นำมาซึ่งสงครามภายในระหว่างชาติพันธุ์ต่างๆเมื่อนายพล ออง ซาน ผู้นำเรียกร้องเอกราชถูกลอบสังหาร และนายพล เนวิน ขึ้นสู่อำนาจ พร้อมฉีกสัญญาปางโหล๋ง ที่นายพล ออง ซาน เซ็นร่วมกับผู้นำไทยใหญ่ ฉิ่น และคะฉิ่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2489 เป็นสัญญาที่ยอมให้ชนชาติกลุ่มน้อยปกครองตนเองภายหลังได้รับเอกราชแล้วเป็นเวลา 10 ปี ภายใต้การปกครองเบ็ดเสร็จของนายพลเนวิน การต่อสู้ระหว่างชนชาติกลุ่มน้อย และรัฐบาลพม่ายังคงดำเนินต่อมาพร้อมกับภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจที่ทำให้พม่าถูกนับเป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดของโลก จนรัฐบาลเนวินต้องประกาศลดค่าเงินจั๊ด (Kyat) ในเดือนกันยายน 2530 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการชุมนุมประท้วงของประชาชนทั่วประทศ ตามมาด้วยการปราบปรามเข่นฆ่านักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมกันกลางใจเมืองร่างกุ้งในวันที่ 8 สิงหาคม 2531 เหตุการณ์การสังหารหมู่ครั้งนั้น เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกในชื่อ8-8-88 (เหตุการณ์วันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988)และเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ประชาชนชาวพม่าตกอยู่ในภาวะยากแค้นแสนสาหัสตราบจนทุกวันนี้

"ดิฉันหวังว่าชาวพม่าเป็นจำนวนมาก จะตระหนักถึงสัญชาติญานภายในที่กระตุ้นให้เราพยายามมองหาสวรรค์และเสียงอันหนักแน่น ที่คอยพร่ำบอกแก่เราว่า เบื้องหลังก้อนเมฆที่เรียงรายสลับซับซ้อน ยังคงมีพระอาทิตย์ที่คอยเวลาอันเหมาะสม ที่จะโผล่พ้นออกมาให้แสงสว่างและความอบอุ่นคุ้มครองแก่เรา"

ออง ซาน ซูจี


หมายเหตุ - ข้อมูลจากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น